พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๑

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๑


พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย เสวยราชสมบัติตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๙๒ ถึงปีใดไม่ปรากฏ พระนามเดิมคือพ่อขุนบางกลางหาว มีมเหสีคือ นางเสือง มีพระราชโอรส ๓ พระองค์พระราชธิดา ๒ พระองค์พระราชโอรสองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ส่วนพระราชโอรสองค์ที่ ๒ และ ๓ คือพ่อขุนบานเมืองและพ่อขุนรามคำแหง ทรงครองราชย์ต่อมาตามลำดับ เดิมพ่อขุนบางกลางหาวทรงเป็นเจ้าเมืองอยู่ที่ใดไม่ปรากฏ แต่ข้อความ ในศิลาจารึกหลักที่ ๒ ทำให้ทราบว่าอยู่ใต้เมืองบางยางลงไป มีผู้เสนอความเห็นว่าพ่อขุนบางกลางหาว น่าจะอยู่แถวกำแพงเพชร

ก่อนราชวงศ์พระร่วงอาณาจักรสุโขทัยมีราชวงศ์พ่อขุนศรีนาวนำถุมครองอยู่ ในรัชสมัยของ พ่อขุนศรีนาวนำถุมซึ่งเริ่มประมาณ พ.ศ. ๑๗๖๒ อาณาจักรสุโขทัยครอบคลุมถึงเมืองฉอด (ใกล้แม่น้ำ เมย) ลำพูน น่าน พิษณุโลก ต่อมาอาณาจักรสุโขทัยตกอยู่ใต้อำนาจขอมสบาดโขลญลำพง จนกระทั่ง พ่อขุนผาเมืองโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถุมทรงร่วมมือกับพ่อขุนบางกลางหาวขับไล่ขอมสบาดโขลญ ลำพงไป พ่อขุนบางกลางหาวทรงยึดเมืองศรีสัชนาลัยได้และทรงเวนเมืองให้พ่อขุนผาเมือง พ่อขุน ผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวเป็นกษัตริย์สุโขทัย พ่อขุนผาเมืองซึ่งเป็นพระชามาดา (ลูกเขย) ของกษัตริย์ขอมทรงยกพระนามศรีอินบดินทราทิตย์ซึ่งพระองค์ได้รับมาจากกษัตริย์ขอมมอบให้แก่ พ่อขุนบางกลางหาว แต่พ่อขุนบางกลางหาวทรงใช้พระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ บางทีอาจจะ ทรงเห็นว่าพระนามเดิมมาจากคำ อินทรปัต + อินทร + อาทิตย์แสดงว่าอยู่ใต้อินทรปัตซึ่งเป็น เมืองหลวงของขอม (ดังปรากฏในจารึกหลักที่ ๒) ก็เป็นได้

การที่พ่อขุนผาเมืองทรงยกสุโขทัยและอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวเป็นกษัตริย์อาจจะทรงเห็น ว่าสุโขทัยในขณะนั้นเป็นเมืองเล็กกว่าศรีสัชนาลัย หรืออาจจะเป็นเพราะว่านางเสือง พระมเหสีของ พ่อขุนบางกลางหาวเป็นพระภคินี(พี่สาว) ของพ่อขุนผาเมือง พ่อขุนบางกลางหาวจึงทรงมีสิทธิที่จะได้ ครองเมืองก่อนพ่อขุนผาเมืองก็เป็นได้

พ่อขุนผาเมืองเป็นเจ้าเมืองราด มีพระอนุชาคือพระยาคำแหงพระรามครองเมืองสระหลวง สองแคว (พิษณุโลก) โอรสของพระยาคำแหงพระราม คือ มหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี เมื่อเป็น ฆราวาสมีฝีมือในการสู้รบ ได้ชนช้างชนะหลายครั้ง รู้ศิลปศาสตร์หลายประการ ขณะอายุ ๓๐ ปี มีบุตรแต่เสียชีวิต มหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีจึงออกบวช ได้ไปปลูกต้นโพธิ์สร้างพิหาร อาวาส และ ซ่อมแซมพระศรีรัตนมหาธาตุทั้งในและนอกประเทศ เช่น พม่า อินเดีย และลังกา

อนึ่ง เมืองราดตั้งอยู่ที่ใด มีผู้สันนิษฐานไว้ต่างๆกัน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าเมืองราดน่าจะอยู่ที่เพชรบูรณ์และเมืองลุมคือเมืองหล่มเก่า แต่ ผู้เขียน (ประเสริฐ ณ นคร) วางตำแหน่งเมืองราด เมืองสะค้า และเมืองลุมบาจายไว้ที่ลุ่มแม่น้ำน่าน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

จากจารึกหลักที่ ๒ ทำให้ทราบว่า เมืองราด เมืองสะค้า และเมืองลุมบาจาย เป็นกลุ่มเมืองที่อยู่ ใกล้กัน พ่อขุนผาเมืองอยู่เมืองราด และกษัตริย์น่านมีพระนามผานอง ผากอง และผาสุม แต่กษัตริย์ เมืองอื่นไม่ใช้ “ผา” นำหน้าพระนามเลย พ่อขุนผาเมืองจึงน่าจะเป็นกษัตริย์น่าน (คือ เมืองราดนั่นเอง) นอกจากนี้ยังมีพระราชโอรสของกษัตริย์น่านมีพระนามว่าบาจาย อาจจะแสดงว่าน่านมีอำนาจเหนือ บาจาย แบบพระนามกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ แสดงว่ากรุงเทพฯ มีอำนาจเหนือราชบุรีนั่นเอง

อีกประการหนึ่ง จารึกหลักที่ ๘ กล่าวถึงไพร่พลของพระเจ้าลิไทยว่า มีทั้งชาวสระหลวง สอง แคว พระบาง ฯลฯ เริ่มตั้งแต่เมืองทางทิศตะวันออกของสุโขทัย แล้วกวาดไปทางใต้ ทางทิศตะวันตก ทางทิศเหนือ จนกลับมาจบที่ทิศตะวันออกตามเดิม จารึกหลักอื่นเช่นหลักที่ ๓๘ และจารึกวัด อโสการาม (หลักที่ ๙๓) ก็ใช้ระบบเดียวกัน โดยถือตามพระพุทธศาสนาว่า ตะวันออกเป็นทิศหน้าแล้ว วนตามเข็มนาฬิกา เริ่มจากสระหลวง สองแควคือพิษณุโลก ไปปากยม (พิจิตร) พระบาง ไปชากังราว สุพรรณภาว กำแพงเพชร รวม ๓ เมืองที่กำแพงเพชร บางพาน (อำเภอพานกระต่าย กำแพงเพชร) ต่อไปจะถึงราด สะค้า ลุมบาจายซึ่งจะอยู่ระหว่างทิศเหนือกวาดมาทางทิศตะวันออกของสุโขทัยและ ย่อมจะอยู่เหนือสระหลวง สองแควขึ้นไป จารึกหลักที่ ๑ วางลุมบาจายและสะค้าไว้ระหว่างพิษณุโลก กับเวียงจันทน์

อีกประการหนึ่ง ตอนพ่อขุนผาเมืองยกมาช่วยพ่อขุนบางกลางหาวรบกับขอมสบาดโขลญลำพง ที่สุโขทัย ถ้าหากพ่อขุนผาเมืองอยู่แถวเพชรบูรณ์ คงจะมาช่วยไม่ทัน

สินชัย กระบวนแสง จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พบใบลานที่วัดช้างค้ำ เมือง น่าน กล่าวถึงเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ ๒ ว่า เจ้าผู้ครองน่านขึ้นตามแม่น้ำน่านไปถึงอำเภอท่าปลา (ปัจจุบันคือจังหวัดอุตรดิตถ์) ใกล้ห้วยแม่จริม “เมืองราดเก่าหั้น” แสดงว่าสมัยต้นรัตนโกสินทร์ยัง ทราบกันดีว่า เมืองราดอยู่บนแม่น้ำน่านใกล้อำเภอท่าปลา

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »