พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๑๗

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๑๗


สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๗ แห่ง กรุงศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. ๒๐๕๗ เดิมรับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพิเรนทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจขวา ซึ่งมีส่วนร่วมในการปราบขุนวรวงศาธิราชและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ แล้ว อัญเชิญพระเฑียรราชาให้ลาผนวชขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

หลังจากที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ แล้ว ทรงสถาปนาขุนนางสำคัญ ที่มีส่วนช่วยเหลือให้ดำรงตำแหน่งต่างๆที่สำคัญดังนี้ ขุนพิเรนทรเทพเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชา ธิราชเจ้าให้ครองเมืองพิษณุโลก และพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีย์พระราชธิดาให้เป็นพระมเหสี ขุนอินทรเทพให้เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช หลวงศรียศเป็นเจ้าพระยา มหาเสนา ที่สมุหกลาโหม หมื่นราชเสน่หาในราชการเป็นเจ้าพระยามหาเทพ หมื่นราชเสน่หา นอกราชการเป็นพระยาภักดีนุชิต พระยาพิชัยเป็นเจ้าพระยาพิชัย พระยาสวรรคโลกเป็นเจ้าพระยา สวรรคโลก

เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าไปครองเมืองพิษณุโลกนั้น ต่อมาพระวิสุทธิกษัตรีย์มี พระราชธิดาและพระราชโอรสเป็นลำดับคือ พระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระ เอกาทศรถ เมื่อเกิดสงครามช้างเผือกระหว่างอยุธยากับพม่าใน พ.ศ. ๒๑๐๖ สมเด็จพระมหา ธรรมราชาธิราชเจ้าได้พยายามป้องกันเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองเหนือไว้ด้วยความสามารถ แต่ เมื่อจวนจะเสียเมือง สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้ายอมอ่อนน้อมต่อพม่า พม่าเห็นการปฏิบัติของ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าแล้ว จึงตั้งให้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก แต่ขึ้นอยู่ภายใต้อาณัติของพม่า ภายหลังที่เสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๑๑๒ แล้ว จึงได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๑ ขณะนั้นมีพระชนมายุได้ ๕๔ พรรษา   

ในรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้ามีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้น ดังนี้ 

ใน พ.ศ. ๒๑๑๓ พระยาละแวกยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา แต่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า สามารถป้องกันเมืองไว้ได้ โดยขับไล่กองทัพพระยาละแวกไป ต่อมาอีก ๓ ปี กองทัพพระยาละแวกยก เข้ามาโจมตีอยุธยาอีก แต่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าก็ป้องกันเมืองไว้ได้ การที่ข้าศึกสามารถ ขึ้นมาประชิดพระนครได้ง่ายดังนี้ ทำให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าโปรดให้ขุดคูขื่อหน้าทางด้าน ทิศตะวันออกของเกาะเมืองให้กว้างขึ้น ทรงสร้างป้อมมหาชัยขึ้นที่บริเวณแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรี มาบรรจบกัน และทรงสถาปนาพระราชวังหน้าขึ้นเพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาอุปราช 

ใน พ.ศ. ๒๑๒๔ เกิดกบฏญาณพิเชียรขึ้นแถบเมืองลพบุรี แต่สามารถปราบปรามให้สงบ เรียบร้อยลงได้

ใน พ.ศ. ๒๑๒๙ และ พ.ศ. ๒๑๓๐ สามารถขับไล่กองทัพพระเจ้าหงสาวดีที่มาล้อมกรุงศรีอยุธยา ให้พ่ายแพ้กลับไป และในการปราบปรามหัวเมืองต่างๆที่กระด้างกระเดื่องเช่นหัวเมืองเขมรให้อยู่ใน อำนาจกรุงศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงออกรบทุกครั้ง ทำให้ กองทัพอยุธยาสามารถยับยั้งการรุกรานของเมืองอื่น ๆได้อีกระยะหนึ่ง ครั้นต่อมาจุลศักราช ๙๕๒ ปีขาล สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๑๓๓ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าสวรรคต พระชนมายุได้ ๗๖ พรรษา อยู่ในราชสมบัติได้ ๒๒ ปี

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »