พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๓

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๓


สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพ่องั่ว หรือขุนหลวงพะงั่ว) ทรงเป็นพระมหา กษัตริย์รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพ พ.ศ. ๑๘๕๓ เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สวรรคตใน พ.ศ. ๑๙๑๒ สมเด็จพระราเมศวรซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์โตเสด็จขึ้นครองราชย์หาก แต่ปีรุ่งขึ้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จยกทัพมาจากเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระราเมศวรจึงมอบ ราชสมบัติให้แล้วเสด็จไปประทับที่เมืองลพบุรีขณะที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ขึ้นครองราชย์นั้น มีพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ตามที่ปรากฏในคัมภีร์จุลยุทธการวงศ์ซึ่งเป็นพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับภาษาบาลีและพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เสวยราชย์เมื่อปีจอ จุลศักราช ๗๓๒ (พ.ศ. ๑๙๑๓) ครองราชย์ ๑๒ ปีสวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๔๔ (พ.ศ. ๑๙๒๕) แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่าสวรรคตปีมะโรง จุลศักราช ๗๕๐ (พ.ศ. ๑๙๓๑) รวมเวลาที่ทรงครองราชย์ ๑๘ ปี

พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์อธิบายความช่วงการเปลี่ยนแผ่นดิน จากรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ไปยังรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ และ สมเด็จพระราเมศวรไว้ว่า

ศักราช ๗๓๑ ระกาศก (พ.ศ. ๑๙๑๒) แรกสร้างวัดพระราม ครั้งนั้นสมเด็จพระ รามาธิบดีเจ้าเสด็จนฤพาน จึงพระราชกุมารท่านสมเด็จพระ (ราเม) ศวรเจ้าเสวยราชสมบัติ ครั้นเถิงศักราช ๗๓๒ จอศก (พ.ศ. ๑๙๑๓) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เสด็จมาแต่เมือง สุพรรณบุรีขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา และท่านจึงให้สมเด็จพระราเมศวรเจ้า เสด็จไปเสวยราชสมบัติเมืองลพบุรี

พระนามขุนหลวงพ่องั่ว หรือขุนหลวงพะงั่วนั้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่าทรงเป็นพระราชโอรสใน ลำดับที่ ๕ เพราะการนับลำดับลูกชายในเอกสารโบราณเรียงลำดับคือ อ้าย ยี่ สาม ไส งั่ว ลก เจ็ด แปด เจ้า จ๋ง ความสัมพันธ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ขุนหลวงพะงั่วนี้พระราชพงศาวดารว่าเป็นพี่ พระมเหสีของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ด้วย จึงโปรดให้ไปครองเมืองสุพรรณบุรีและ ได้มีบทบาทในการสู้รบกับข้าศึกในรัชกาลพระเจ้าอู่ทองมาแต่ก่อน ครั้นสิ้นแผ่นดินแล้วจึงเสด็จยกทัพ มาขึ้นครองราชย์ที่อยุธยา

พระราชพงศาวดารบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในรัชกาลของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ไว้ว่า ก่อนขึ้นครองราชย์นั้นเคยไปครองเมืองชัยนาท (พิษณุโลก) อยู่ระยะหนึ่ง เมื่อครั้งที่อยุธยารบ ชนะสุโขทัย ได้ทรงยกทัพไปตีเมืองนครธมแห่งกัมพูชาเพื่อช่วยกองทัพของสมเด็จพระราเมศวร เมื่อ ขึ้นครองราชย์แล้วได้ยกทัพไปรบเมืองเหนือหลายครั้ง โดยเฉพาะการยึดเมืองชากังราวและเมือง พิษณุโลก

ใน พ.ศ. ๑๙๑๖ ทรงยกทัพจากอยุธยาไปตีเมืองชากังราว ครั้งนั้นพระยาไสแก้วและพระยา คำแหงเจ้าเมืองออกรบ พระยาไสแก้วเสียชีวิต ส่วนพระยาคำแหงหลบหนีกลับเข้าเมืองได้ อีก ๓ ปี ต่อมาทรงยกทัพหลวงขึ้นไปอีกครั้งหนึ่ง พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ระบุว่า

ศักราช ๗๓๘ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๑๙) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้น พญาคำแหงแลท้าวผ่าคอง คิดด้วยกันว่าจะยอทัพหลวง และจะทำมิได้แลท้าวผ่าคองเลิก ทัพหนีแลจึงเสด็จทัพหลวงตาม แลท้าวผ่าคองนั้นแตก แลจับได้ตัวท้าวพระยา แลเสนา ขุนหมื่นครั้งนั้นมาก แลทัพหลวงเสด็จกลับคืน

จากนั้นอีก ๒ ปีสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ทรงยกทัพไปตีเมืองกำแพงเพชร พระมหา ธรรมราชาที่ ๒ แห่งสุโขทัยทรงออกรบด้วย แต่เพลี่ยงพล้ำต่อทัพกรุงศรีอยุธยา จึงออกถวายบังคม เป็นการยอมรับในอำนาจทางทหารของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ทรงให้พระมหา ธรรมราชาปกครองเมืองสุโขทัยต่อไป แต่ให้ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองประเทศราช ใน พ.ศ. ๑๙๓๑ ทรงยกทัพขึ้นไปชากังราวอีกครั้ง

และเสด็จสวรรคตระหว่างเดินทัพกลับ นอกจากเมืองชากังราวแล้ว สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ยังทรงยกทัพไปล้านนาเพื่อจะยึด เอาเมืองเชียงใหม่ แต่ทรงได้เพียงเมืองลำปางที่ยอมอ่อนน้อมเท่านั้น

อนึ่ง พระราชกรณียกิจที่สำคัญทางฝ่ายพระพุทธศาสนาของพระองค์คือการสถาปนาพระศรี รัตนมหาธาตุขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๗ ร่วมกับพระมหาเถระรูปสำคัญคือพระมหาเถรธรรมากัลญาณ โดย ทรงสร้างพระศรีรัตนมหาธาตุสูง ๑๙ วา และยอดนพศูลสูง ๓ วา เป็นพระอารามสำคัญกลางพระนคร

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »