พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๑๙

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๑๙


สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๙ แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็น พระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้ากับพระวิสุทธิกษัตรีย์ เป็นพระอนุชาในสมเด็จพระ นเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๓ ที่เมืองพิษณุโลกเมื่อครั้งที่พระราชบิดาทรงดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระเอกาทศรถทรงได้รับการขนานพระนามในหมู่ ชาวตะวันตกว่าพระองค์ขาว พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่าสมเด็จพระ เอกาทศรถเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๘ 

เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นครองราชย์นั้น เป็นเวลาที่มีศึกสงครามหลายครั้งเข้ามาประชิด พระนคร อีกทั้งการสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่เมืองหางก็ยิ่งทำให้คนอยุธยารู้สึกเสียขวัญ และหมดที่พึ่ง สมเด็จพระเอกาทศรถซึ่งทรงออกรบร่วมกับพระเชษฐาธิราชทุกครั้งจึงเป็นทั้งที่พึ่ง และเป็นขวัญกำลังใจในการที่จะสร้างความเชื่อมั่นและความสามัคคีในการต่อสู้กับข้าศึกได้อีก หลังจาก ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเอกาทศรถทรงเชิญพระบรมศพกลับ กรุงศรีอยุธยาและถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติ แล้วสถาปนาวัดวรเชตุขึ้นเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ในรัชกาลของสมเด็จพระเอกาทศรถนับได้ว่าเป็นยุคสมัยของความสงบสุขอีกครั้งหนึ่ง เพราะ ไม่มีศึกสงครามใดๆเข้ามาประชิดพระนครอีก ทั้งยังมีชาวต่างชาติเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารมาก กว่าก่อน พระองค์เองทรงติดต่อกับต่างชาติด้วย ดังปรากฏสำเนาพระราชสาส์นที่ทรงส่งไปยังอุปราช โปรตุเกสที่เมืองกัว

พระราชพงศาวดารบันทึกเหตุการณ์ต่างๆในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถว่าเมื่อทรงขึ้นครอง ราชย์แล้ว พญาตองอูและพญาล้านช้างได้ส่งพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการมาถวาย ใน รัชกาลของพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอาสวยุชหรือพระราชพิธีแข่งเรือขึ้น จากนั้นโปรดให้หล่อพระพุทธปฏิมา ๕ พระองค์และมีพิธีเฉลิมฉลองพระพุทธรูปเหล่านั้น

ในด้านกฎหมาย โปรดให้ตั้งพระราชกำหนดกฎหมายพระอัยการและส่วยสัดพัฒนาการขนอน ตลาดเพื่อกำหนดพิกัดการเสียภาษีขึ้น

สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๓ ทรงครองราชย์อยู่ ๖ ปี ทั้งนี้เดิมเชื่อว่า รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถมีระยะเวลานานกว่านั้น แต่จากข้อมูลที่พบในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต และจดหมายเหตุปีเตอร์ ฟลอริส (Peter Floris) ซึ่งเดินทางเข้ามาทำงานกับบริษัทอินเดีย ตะวันออกของอังกฤษในสยามระหว่าง พ.ศ. ๒๑๕๔-พ.ศ. ๒๑๕๘ ระบุตรงกันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๘ และสมเด็จพระเอกาทศรถสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๓ พระชนมายุ ได้ ๕๑ พรรษา

พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ระบุว่า สมเด็จพระเอกาทศรถมีพระราชโอรส ๒ พระองค์ คือเจ้าฟ้าสุทัศน์และเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ แต่ในสังคีติยวงศ์กับเอกสารฟานฟลีตและ เอกสารฮอลันดากล่าวว่าสมเด็จพระอินทราชา (พระเจ้าทรงธรรม หรือพระศรีศิลป์) เป็นพระราชโอรส องค์หนึ่งของสมเด็จพระเอกาทศรถ

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »