พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๕

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๕


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ ในพระบรมมหาราชวัง มีพระนามเดิมว่าสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทร เทพยมหามกุฏ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร มีพระราชขนิษฐาและ พระราชอนุชาร่วมสมเด็จพระบรมราชชนกชนนีอีก ๓ พระองค์คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณ ภควดีสมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์) และ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ (จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยา ภาณุพันธุวงศ์วรเดช)

เมื่อทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาทั้งด้านวิชาการและโบราณราชประเพณีตามธรรมเนียม เจ้าฟ้าพระราชกุมาร และมีครูสตรีชาวอังกฤษมาถวายพระอักษรภาษาอังกฤษเพิ่มเติมด้วย ทรงได้รับ สถาปนาเป็นกรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ แล้วเลื่อนเป็นกรมขุนพินิตประชานาถเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ ตามลำดับ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นพระชนมพรรษาเพียง ๑๕ พรรษา ทรงได้รับราชสมบัติตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญของเจ้านายและเสนาบดีผู้ใหญ่ที่ประชุมปรึกษา เห็นพร้อมกัน และมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ แต่โดยที่ ยังทรงพระเยาว์ในระยะเวลาห้าปีแรกในรัชกาล เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค ต่อมาคือสมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) จึงรับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ส่วนการในพระราชสำนักนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงรับกำกับดูแล ตราบจนกระทั่ง พระชนมพรรษาถึงเกณฑ์ที่จะทรงผนวช ก็ได้ทรงผนวช ณ พระพุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวัง ชั่วระยะเวลาสั้นๆ มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัธยาจารย์ เมื่อทรงลาสิกขาแล้ว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ และทรงรับราชภาระบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองสืบมา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ในสิริราชสมบัติยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ ในอดีตกาล ได้ทรงประกอบพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ในมงคลสมัยเมื่อทรงครอง สิริราชสมบัติได้ ๔๐ ปีเสมอด้วยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา อันเป็นรัชสมัยที่ยืนยาว ที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมาในพระราชพงศาวดาร 

ตลอดเวลาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑-พ.ศ. ๒๔๕๓) ประเทศสยามอยู่ในช่วงเวลาที่อาจเรียกได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ ภัยจากการ ล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกปรากฏชัดเจน โดยเฉพาะอังกฤษได้เข้าครอบครอง อินเดีย พม่า และมลายูจนหมดสิ้น ในขณะเดียวกันกับที่ฝรั่งเศสก็เข้ามายึดครองดินแดนในอินโดจีน ทั้งญวน ลาว และเขมร ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว เหตุกระทบ กระทั่งชายแดนระหว่างไทยกับชาติมหาอำนาจทั้งสองจึงมีอยู่เสมอ การภายในประเทศนั้นก็เป็นเวลา ที่ทรงพระราชดำริปฏิรูปบ้านเมืองในทุกๆด้าน เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก และเกิด ประโยชน์ยั่งยืนแก่ประเทศและประชาชนโดยส่วนรวม กิจการทุกด้านที่ได้ทรงวางรากฐานไว้ดีแล้วใน รัชกาล ได้เป็นคุณานุคุณแก่การพัฒนาประเทศในเวลาต่อมาอย่างแจ้งชัด

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้เสด็จ พระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๓ เมื่อครองราชย์ได้เพียง ๒ ปีได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา ต่อจากนั้นไม่นานก็ได้เสด็จเยือนประเทศอินเดียและพม่า ทรงได้พบเห็นและเป็นโอกาสที่ทรงได้ศึกษาแบบแผนวิธีการปกครอง ตลอดถึงวิทยาการต่างๆของชาติ ตะวันตกด้วยพระองค์เอง การเสด็จฯ ต่างประเทศครั้งสำคัญที่สุดในรัชกาลคือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆในทวีปยุโรป ๒ คราว ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ และ พ.ศ. ๒๔๕๐ ซึ่งเป็นการแผ่ พระเกียรติยศและเผยเกียรติภูมิของไทยในหมู่ชาติอารยะ และเป็นปัจจัยเกื้อกูลประการหนึ่งที่ทำให้ ชาติต่างๆเกิดความคุ้นเคย ยอมรับ และเคารพอธิปไตยของสยามประเทศ

ส่วนภายในประเทศนั้น ได้ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จเยี่ยมเยียนท้องถิ่นต่างๆ เพื่อทอดพระเนตร และสดับตรับฟังทุกข์สุขของพสกนิกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามหัวเมืองที่ราษฎรมิเคยมีโอกาสได้เฝ้ารับ เสด็จพระมหากษัตริย์มาแต่ก่อน เช่น ทางเหนือนั้นได้เสด็จขึ้นไปจนถึงเมืองกำแพงเพชร ทางใต้เสด็จ หัวเมืองทั้งฝั่งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามันจนตลอด เป็นต้น บางคราวเสด็จประพาสโดยไม่เปิดเผย พระองค์ หากแต่เสด็จเป็นการลำลองดังที่เรียกว่า “เสด็จประพาสต้น” เพื่อเป็นช่องทางให้ทรงได้ ใกล้ชิดและทราบความเป็นจริงในพระราชอาณาจักรด้วยพระองค์เอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวจึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงรู้จักเมืองไทยและคนไทยอย่างดียิ่งจากประสบการณ์ตรง ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องถิ่นต่างๆ

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีมากมายเป็นอเนกประการ แต่ที่อยู่ในความทรงจำของอาณาประชาราษฎร์ได้แก่ พระราชกรณียกิจที่ทรงเลิกทาส อันเป็นประเพณี บ้านเมืองมาช้านานแต่ไม่สมแก่สมัย เพราะเป็นการกดคนลงใช้แรงงานโดยปราศจากอิสรเสรี ด้วยพระ ปรีชาญาณยิ่งยวด ทรงเลิกทาสโดยใช้วิธีผ่อนปรนไปเป็นระยะ พอมีเวลาให้ทั้งผู้เป็นนายทาสและ ตัวทาสเองได้ปรับตัว ปรับใจ พร้อมกันนั้นก็ทรงเลิกระบบไพร่อันเป็นระบบเกณฑ์แรงงานชายวัยฉกรรจ์ จากสามัญชนมาช่วยราชการอันมีมาเก่าก่อน และเป็นอุปสรรคในการทำมาหาเลี้ยงชีพโดยเสรีของราษฎรทั้งหลายเสียด้วยเช่นกัน เมื่อทรงเลิกทั้งระบบทาสและระบบไพร่เช่นนี้เพื่อพัฒนาคนทุกหมู่ เหล่าให้มีความรู้เป็นกำลังของบ้านเมืองอย่างแท้จริง ได้ทรงพระราชดำริเริ่มจัดการศึกษาในทุกระดับ จากเดิมที่ศึกษากันแต่เฉพาะในครอบครัวหรือตามวัดวาอารามในแบบธรรมเนียมเก่า ทรงตั้งโรงเรียน ของหลวงขึ้น เพื่อให้การศึกษาแก่คนทุกชั้น ตั้งแต่เจ้านายในราชตระกูลเป็นต้นไปจนถึงราษฎรสามัญ ในตอนกลางและตอนปลายรัชกาล การศึกษาเจริญก้าวหน้ามากขึ้น จนถึงมีโรงเรียนวิชาชีพชั้นสูง หลายแห่งเกิดขึ้น เช่น โรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนแพทยาลัย และ โรงเรียนยันตรศึกษา เป็นต้น รวมทั้งโรงเรียนมหาดเล็กที่ทรงตั้งขึ้นฝึกหัดคนเข้ารับราชการก็ดำเนินงาน ก้าวหน้าสมพระราชประสงค์และเป็นรากฐานสำหรับการอุดมศึกษาของประเทศในเวลาต่อมา

พระราชกรณียกิจข้อสำคัญอีกประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การปฏิรูประบบการเงินการคลังของประเทศและการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการเงิน การคลังนั้น ทรงตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ เพื่อจัดระบบรายรับของประเทศให้ เต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้นกว่าแต่ก่อน ทดแทนวิธีการที่ใช้เจ้าภาษีนายอากรเป็นเครื่องมือ และมีหนทาง รั่วไหลมาก ทำให้ราชการแผ่นดินมีรายรับเพิ่มพูนขึ้นเป็นอันมาก พอใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ ส่วน การบริหารราชการแผ่นดินนั้น จากระบบเดิมที่เริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครั้ง กรุงศรีอยุธยา มีอัครมหาเสนาบดี๒ ตำแหน่ง คือ สมุหนายกและสมุหกลาโหม มีเสนาบดีจตุสดมภ์สี่ คือเวียง วัง คลัง และนา ภายหลังมีการแก้ไขเพิ่มเติมปรับเปลี่ยนมาบ้างตามลำดับเวลา แต่ก็เป็นการ ยุ่งยากทับซ้อน และมีความไม่ชัดเจนในเรื่องอำนาจหน้าที่ราชการอยู่เป็นอันมาก ประกอบกับราชการ บ้านเมืองผันแปรไปตามยุคสมัย จึงทรงพระราชดำริแก้ไขระบบบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ โดยทรงยกเลิกระบบเสนาบดีแบบเดิมเสีย แล้วทรงแบ่งราชการเป็นกระทรวงจำนวน ๑๒ กระทรวง ทรงแบ่งปันหน้าที่ให้ชัดเจน และเหมาะกับความเป็นไปของบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์ พระราชกรณียกิจในส่วนนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า

การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากแบบเดิม เปนตั้งกระทรวง ๑๒ กระทรวงนี้ต้อง นับว่าเปนการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ซึ่งเรียกได้อย่างพูดกันตามธรรมดาว่า “พลิก แผ่นดิน” ถ้าจะใช้คำอังกฤษก็ต้องเรียกว่า “Revolution” ไม่ใช่ “Evolution” พระบาทสมเด็จ พระพุทธเจ้าหลวงทรงเล็งเห็นการภายหน้าอย่างชัดเจน และทรงทราบการที่ล่วงไปแล้ว เปนอย่างดีได้ทรงพระราชดำริห์ตริตรองโดยรอบคอบ ได้ทรงเลือกประเพณีการปกครอง ทั้งของไทยเราและของต่างประเทศประกอบกัน ด้วยพระปรีชาญาณอันยิ่งยวดได้ทรง จัดการเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองเปนลำดับมาล้วนเหมาะกับเหตุการณ์และเหมาะกับเวลา ไม่ช้าเกินไป ไม่เร็วเกินไป

พระราชกรณียกิจข้อสำคัญที่สุดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือการที่ทรง รักษาอิสรภาพของชาติไว้ได้รอดปลอดภัย ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบทุกทิศต้องตกเป็น อาณานิคมของชาติตะวันตกดังกล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ชาติไทยสามารถดำรงอิสราธิปไตยอยู่ได้อย่าง น่าอัศจรรย์ บางคราวเช่นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ฝรั่งเศสมีเหตุกระทบกระทั่งกับไทยอย่าง รุนแรง ถึงกับฝรั่งเศสส่งกองเรือมาปิดปากอ่าวสยาม แต่ด้วยพระปรีชาสามารถด้านวิเทโศบาย และ ทรงพระขันติธรรมอดทนอย่างยอดยิ่ง ทรงยอมสละประโยชน์ส่วนน้อยแม้จนถึงดินแดนในพระราชอาณาเขตบางส่วน เช่น ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ดินแดนส่วนที่เรียกว่าเขมรตอนใน ประกอบด้วย เมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ และเมืองศรีโสภณ และดินแดนตอนใต้ของประเทศ ประกอบด้วย เมืองไทรบุรีเมืองกลันตัน และเมืองตรังกานูเป็นต้น แลกกับประโยชน์ส่วนใหญ่คือความเป็นเอกราช ของชาติกรุงสยามจึงรักษาความเป็นไทยมาได้โดยสวัสดี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชกรณียกิจอีกมากมายเกินจะพรรณนา ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือมากเรื่องหลายประเภท เช่น พระราชพิธีสิบสองเดือน ไกลบ้าน และ เงาะป่า เป็นต้น ทรงริเริ่มกิจการสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกิจการ ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ไปรษณีย์โทรเลข หรือกิจการรถไฟก็ตาม ทรงทำนุบำรุงพระศาสนา ทรงสร้าง พระอารามหลายแห่ง เช่น วัดเทพศิรินทราวาส วัดราชบพิธ และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติเป็นต้น ทรง ปรับปรุงระบบกฎหมายและระบบศาลยุติธรรมของประเทศ ทรงตั้งศิริราชพยาบาล ทรงพัฒนากองทัพ ทั้งทัพบกและทัพเรือให้ทันสมัย ทรงปรับปรุงกิจการตำรวจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน ทรง สร้างและปรับปรุงถนนหนทางการคมนาคมทั้งทางบกทางน้ำ ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่าในแผ่นดินของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองไทยเจริญขึ้นอย่างผิดหูผิดตา และเป็นความ เปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทันแก่ความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างพอเหมาะพอดี

ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก อาณา ประชาราษฎร์ได้พร้อมใจกันเรี่ยไรสร้างพระบรมรูปโดยสั่งจากโรงหล่อที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นของเฉลิมพระขวัญ ประดิษฐานพระบรมรูปที่ลานพระราชวังดุสิต ดังที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “พระบรมรูปทรงม้า” ที่ฐานพระบรมรูปมีคำจารึกซึ่งสมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ในนามของพสกนิกรทั้งปวง เฉลิมพระ สมัญญาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “พระปิยมหาราช” อันแปลความว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของมหาชน” และตรงกับใจของไพร่ฟ้าในแผ่นดินทั้งปวง พระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ด้วย พระองค์เอง เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระอัครมเหสีพระบรมราชเทวีพระราชเทวี พระอัครชายา และพระราชชายา อาทิสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีและสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี มี พระราชโอรสธิดารวมทั้งสิ้น ๗๗ พระองค์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ด้วยพระโรคพระวักกะพิการ สิริพระชนมพรรษา ๕๘ พรรษา ทรงดำรงอยู่ในสิริราชสมบัติ ๔๒ ปีเศษ 

พ.ศ. ๒๕๔๖ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรง อุทิศพระองค์เพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »



ตำแหน่ง

Lek Thi 206 Soi 8 ตำบล เนินมะปราง อำเภอเนินมะปราง พิษณุโลก 65190 ประเทศไทย


คำอธิบายการค้นหา

Num ... 2627615 blogger Blog for save Make safe editor Sight seeing view blog ID ... Phasa Thai รายละเอียดคำศัพท์ ... 

☆ เซฟบล็อก! ☆