พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๓๒

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๓๒


สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๓๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็น พระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ประสูติแต่กรมหลวง พิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อยหรือพระอัครมเหสีน้อย) มีพระเชษฐาร่วมพระราชชนกชนนีคือสมเด็จ เจ้าฟ้าเอกทัศ (ทรงกรมเป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรี เสวยราชย์เป็นสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ หรือ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์)

พระนามสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรมาจากพระนามเดิมคือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุทุมพร ด้วยสาเหตุตามที่บันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงสยามจากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอนว่า ขณะสมเด็จพระราชชนนีทรงครรภ์นั้น สมเด็จพระราชชนกทรงพระสุบินว่ามีผู้ถวายดอกมะเดื่อ ซึ่งพระองค์ทรงทำนายว่า “ดอกมะเดื่อเป็นคนหายากในโลกนี้” เมื่อพระราชโอรสประสูติจึง พระราชทานนามว่า สมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพรราชกุมาร ส่วนราษฎรเรียกว่า เจ้าฟ้าดอกเดื่อหรือดอก มะเดื่อ (อุทุมพรแปลว่ามะเดื่อ) เมื่อสมเด็จพระราชชนกเสด็จขึ้นเสวยราชย์ใน พ.ศ. ๒๒๗๖ ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต

ถึง พ.ศ. ๒๓๐๐ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเทพพิพิธทรงปรึกษาเจ้าพระยาอภัยราชาผู้ว่าที่ สมุหนายกและเจ้าพระยามหาเสนาพระยาพระคลัง แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตขึ้นดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวร สถานมงคล แทนที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร กรมพระราชวังบวร พระราชโอรสประสูติ แต่พระอัครมเหสีใหญ่ ซึ่งทรงกระทำผิดเป็นมหันตโทษ ต้องพระราชอาญาเฆี่ยนจนทิวงคตตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๙๘ แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตได้ทรงทำเรื่องราวกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าสมเด็จพระ เชษฐา กรมขุนอนุรักษ์มนตรีมีอยู่ ขอพระราชทานให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระเจ้า อยู่หัวบรมโกศจึงมีพระราชโองการตามที่บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า

กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นโฉดเขลาหาสติปัญญาและความเพียรมิได้ถ้าจะให้ดำรง ฐานาศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชกิจกึ่งหนึ่งนั้น บ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติฉิบหายเสีย เห็น แต่กรมขุนพรพินิต กอปรด้วยสติปัญญาเฉลียวฉลาดหลักแหลม สมควรจะดำรงเศวตฉัตร ครองสมบัติรักษาแผ่นดินสืบไปเหมือนดังคำปรึกษาท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวง

พร้อมกันนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็มีรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุน อนุรักษ์มนตรีออกผนวช ณ วัดลมุดปากจั่น แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธี อุปราชาภิเษก ณ พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท อัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตเถลิงถวัลยราชย์ที่ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตมิได้เสด็จประทับ ณ พระราชวังบวรฯ ยังคงประทับ ณ พระตำหนักสวนกระต่ายในพระราชวังหลวงดังเดิม

ถึง พ.ศ. ๒๓๐๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระประชวรหนัก เสด็จออก ณ พระที่นั่ง ทรงปืน มีพระราชดำรัสให้หาพระราชโอรสผู้ใหญ่ซึ่งประสูติจากพระสนม คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี มาเฝ้าพร้อมกัน ตรัสมอบ พระราชสมบัติแก่กรมพระราชวังบวรฯ ให้พระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ กรมถวายสัตย์ยอมเป็นข้าทูลละอองธุลี พระบาทต่อหน้าพระที่นั่ง ฝ่ายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีซึ่งทรงผนวชอยู่ เมื่อทรงทราบเรื่อง สมเด็จพระราชชนกทรงพระประชวรหนัก ก็ลาผนวชเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักสวนกระต่าย

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต เจ้าสามกรม มีกรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่น สุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี ก็เร่งระดมอาวุธและผู้คนจะก่อการกบฏ กรมพระราชวังบวรฯ มี พระบัณฑูรให้หาท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ประชุมพร้อมกันอยู่ที่ศาลาลูกขุนเข้ามาเฝ้า ณ พระตำหนักสวนกระต่ายเพื่อปรึกษาราชการแผ่นดิน และโปรดให้นิมนต์พระราชาคณะ ๕ รูป ให้ไป ว่ากล่าวโน้มน้าวเจ้าสามกรมให้สมัครสมานสามัคคีถึงสองครั้ง เจ้าสามกรมจึงมาเฝ้ากระทำสัตย์ถวาย

เมื่อสรงพระบรมศพและอัญเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์แล้ว กรม พระราชวังบวรฯ ทรงปรึกษาเป็นความลับกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี แล้วให้กุมตัว เจ้าสามกรมสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีสมเด็จ พระเชษฐาแสดงพระองค์ปรารถนาในราชสมบัติ เสด็จขึ้นอยู่แต่บนพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ สมเด็จ พระเจ้าอุทุมพรทรงเห็นเป็นพระเชษฐาร่วมพระอุทรจึงยอมถวายราชสมบัติ ขณะเสด็จดำรงราชอาณาจักรได้เพียง ๑๐ วัน แล้วถวายบังคมลาออกทรงพระผนวช ณ วัดเดิม จากนั้นเสด็จประทับ ณ วัดประดู่

ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ขุนนางที่เป็นพี่น้องกับพระสนมเอกประพฤติชั่ว จนขุนนาง ผู้ใหญ่ร่วมคิดกับกรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งกราบถวายบังคมลาทรงผนวช ณ วัดกระโจม จะกำจัด สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ โดยจะเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งตอนนี้พระราชพงศาวดารบันทึก พระนามว่าขุนหลวงหาวัดลาผนวชมาเสวยราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรมิได้ทรงห้าม แต่กลับไป เฝ้าสมเด็จพระเชษฐาธิราช ถวายพระพรแจ้งเรื่องผู้คิดกบฏและขอรับพระราชทานชีวิตเหล่ากบฏ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงมีพระราชโองการให้จับพวกกบฏลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วจำไว้ ส่วนกรม หมื่นเทพพิพิธให้สึกแล้วเนรเทศไปเกาะลังกา

ถึง พ.ศ. ๒๓๐๓ พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ขุนนางและราษฎร พากันไปกราบทูลวิงวอนให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรลาพระผนวชออกมาช่วยสมเด็จพระเชษฐาธิราช บัญชาการป้องกันพระนคร ทรงถอดถอนข้าราชการดีที่ต้องโทษออกมาช่วยราชการ และให้จำคุก ขุนนางที่ประพฤติชั่ว สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงเตรียมการทั้งเรื่องไพร่พล เสบียงอาหาร ค่ายคูประตู หอรบ ทรงบัญชาการรบอย่างเข้มแข็ง เมื่อการรบถึงขั้นระดมยิงปืนใหญ่ใส่กัน ได้เสด็จทรงช้างต้น พลายแสนพลพ่ายเลียบพระนคร ทรงตรวจตราและกำชับเจ้าหน้าที่ให้ระวังรักษาทุกๆหน้าที่ พม่า รุกประชิดพระนครตั้งแต่วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๕ ถึงวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๖ ก็ต้องเลิกทัพกลับไป เพราะ พระเจ้าอลองพญาถูกปืนใหญ่แตกต้องพระวรกายขณะทรงบัญชาการจุดปืนใหญ่ และสิ้นพระชนม์ที่ นอกด่านเมืองตาก

หลังสงคราม สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเสด็จขึ้นเฝ้าสมเด็จพระเชษฐาธิราชเนืองๆ แต่ค่ำวันหนึ่ง กลับมีพระราชโองการให้เข้าเฝ้าถึงที่ข้างใน ครั้นเสด็จเข้าไปทอดพระเนตรเห็นสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ถอดพระแสงดาบพาดพระเพลาอยู่ ก็เข้าพระทัยว่าทรงรังเกียจ จะทำร้าย มิให้อยู่ในฆราวาส สมเด็จ พระเจ้าอุทุมพรจึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งไปวัดโพธิ์ทองคำหยาด ทรงพระผนวช แล้วเสด็จกลับเข้ามา ประทับ ณ วัดประดู่ 

พ.ศ. ๒๓๐๗ พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่าให้เกณฑ์ทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อทัพพม่าใกล้ พระนคร สมเด็จพระเจ้าเอกทัศโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์พระราชาคณะที่อยู่วัดนอกเมืองให้เข้ามาอยู่วัด ในพระนคร สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรก็เสด็จเข้ามาประทับที่วัดราชประดิษฐาน ขุนนางและราษฎร ชวนกันไปทูลเชิญเสด็จให้ลาผนวชออกช่วยป้องกันพระนคร ก็ไม่ทรงลาผนวช แม้เมื่อเสด็จออก บิณฑบาต ชาวเมืองจะได้ชวนกันเขียนหนังสือห่อใส่บาตรทูลวิงวอนให้ลาผนวชเป็นจำนวนมากทุกๆวัน ก็ตาม

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เนเมียวสีหบดีแม่ทัพพม่าได้คุมพระภิกษุ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรหรือขุนหลวงหาวัดหรือขุนหลวงวัดประดู่ และพระราชวงศ์ไปพม่า เมื่อถึง เมืองอังวะ พระเจ้ามังระให้สึกออกเป็นคฤหัสถ์ และให้เชื้อพระวงศ์กษัตริย์เมืองไทยไปตั้งบ้านเรือน ที่เมืองจักไก (หรือจักกาย ปัจจุบันเรียกสะกาย) ตรงข้ามแม่น้ำกับเมืองอังวะ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร สวรรคตที่อังวะเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๙

ปัจจุบันมีหนังสือที่รวมพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา ๓ เรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จ พระเจ้าอุทุมพร คือหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ต้นฉบับเดิมเป็นภาษามอญ และหนังสือคำให้การ ชาวกรุงเก่า ต้นฉบับเดิมเป็นภาษาพม่า เป็นเรื่องที่พระเจ้าอังวะให้ถามเชลยไทยที่จับไปเมืองพม่าครั้ง พ.ศ. ๒๓๑๐ เกี่ยวกับพงศาวดารและขนบธรรมเนียมไทย ซึ่งย่อมมีคำให้การของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ด้วย หนังสืออีกเรื่องคือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ฉบับนี้เป็นเอกสารจากหอหลวงของไทย ว่าด้วยภูมิสัณฐานพระนครศรีอยุธยาและขนบธรรมเนียมต่างๆ และมีเรื่องพระราชพงศาวดารปลายอยุธยาอีกช่วงหนึ่ง เพียงแต่มีเรื่องพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้าและพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าของสมเด็จพระเจ้า ลูกเธอ เจ้าฟ้าอุทุมพรด้วย

นอกจากสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจะทรงพระปรีชาสามารถ พร้อมทั้งสติปัญญา คุณธรรม และ พระปรีชาสามารถด้านการปกครองและการสงครามดังกล่าวแล้ว พระราชพงศาวดารยังได้กล่าวถึง พระราชกรณียกิจด้านบำรุงพระศาสนา คือโปรดให้สร้างวัดอุทุมพรอารามและให้ปฏิสังขรณ์หลังคา พระมณฑปพระพุทธบาท หุ้มทองสองชั้น สิ้นทอง ๒๔๔ ชั่ง

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »



ตำแหน่ง

Lek Thi 206 Soi 8 ตำบล เนินมะปราง อำเภอเนินมะปราง พิษณุโลก 65190 ประเทศไทย


คำอธิบายการค้นหา

Num ... 2627615 blogger Blog for save Make safe editor Sight seeing view blog ID ... Phasa Thai รายละเอียดคำศัพท์ ... 

☆ เซฟบล็อก! ☆