พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๒๔

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๒๔


สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปราสาททอง เป็น พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๒๔ แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๗๒ -พ.ศ. ๒๑๙๙ ตามหลักฐานของตะวันตก สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเป็นพระญาติสนิทของสมเด็จพระเจ้า ทรงธรรม

ก่อนขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆในราชสำนักของ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและสมเด็จพระเชษฐาธิราช ได้แก่ ตำแหน่งออกญาศรีวรวงศ์ และออกญา (หรือเจ้าพระยา) กลาโหม แต่ต่อมาด้วยบารมีทางการเมืองและกำลังคนที่สนับสนุน จึงได้ทรงปราบดา ภิเษกขึ้นครองราชย์หลังเหตุการณ์แย่งชิงราชสมบัติช่วง พ.ศ. ๒๑๗๑-พ.ศ. ๒๑๗๒

เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคต พระศรีศิลป์พระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทรงก่อการกบฏ ออกญาศรีวรวงศ์และออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ หัวหน้ากองอาสา ญี่ปุ่น) ได้ร่วมกันปราบปรามและสนับสนุนให้สมเด็จพระเชษฐาธิราชขึ้นครองราชย์ หลังจากนั้นไม่นาน สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงมีเหตุขัดแย้งกับออกญาศรีวรวงศ์ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เป็นออกญากลาโหม เกิดการต่อสู้ขึ้น ออกญากลาโหมสามารถเข้ายึดพระราชวังหลวงได้ และจับสมเด็จพระเชษฐาธิราช สำเร็จโทษเสีย แล้วอัญเชิญพระอาทิตยวงศ์พระอนุชาขึ้นครองราชสมบัติแทน ออกญากลาโหมได้ลด คู่แข่งทางการเมืองลงไปเป็นลำดับ เช่น ส่งออกญาเสนาภิมุขและกองอาสาญี่ปุ่นออกไปปราบกบฏที่ นครศรีธรรมราชเพื่อให้ห่างไกลเรื่องการเมือง ท้ายที่สุดออกญากลาโหมก็ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็น กษัตริย์แทนสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ซึ่งยังทรงพระเยาว์เกินกว่าที่จะปกครองแผ่นดินด้วยพระองค์เองได้

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงปกครองบ้านเมืองด้วยพระปรีชาสามารถและความเด็ดขาด ดัง จะเห็นได้จากการที่ทรงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สำคัญๆในช่วง ๑๐ ปีแรกของการครองราชย์ ให้ลุล่วงไปได้ เช่น กรณีหัวเมืองและหัวเมืองประเทศราชบางแห่งไม่ยอมสวามิภักดิ์กรุงศรีอยุธยา หรือเจ้านายในราชวงศ์เก่าบางพระองค์อาจเป็นชนวนให้ขุนนางในราชสำนักที่มีอำนาจอิทธิพลและ บารมีก่อกบฏได้ จะเห็นได้ว่าพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมถูกสำเร็จโทษไปเกือบหมด เช่น ใน พ.ศ. ๒๑๘๕ “เจ้าท่าทราย” พระราชโอรสพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมก่อกบฏขึ้นใน พระราชวังหลวง แต่ก็ถูกปราบและถูกสำเร็จโทษไป ขุนนางคนสำคัญๆในรัชกาลสมเด็จพระเจ้า ทรงธรรมถูกลิดรอนอำนาจและถูกกำจัดลงไปเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่ก่อนที่จะขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จ พระเจ้าปราสาททอง มีการลงโทษประหารชีวิตออกญากำแพงเพชร ลอบฆ่าออกญาเสนาภิมุข และใน พ.ศ. ๒๑๗๙ ออกญาพิษณุโลกถูกกล่าวหาว่าคิดกบฏและถูกตัดสินประหารชีวิต เป็นต้น

ในช่วงแรกของรัชกาล สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงพยายามจัดการกับปัญหาในหัวเมืองและ หัวเมืองประเทศราช ทรงปราบกบฏที่เมืองละคอน (ลำปาง) และนครศรีธรรมราช และเมื่อสุลต่าน ปัตตานีไม่ยอมส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองเป็นบรรณาการมาถวาย ก็ทรงส่งกองทัพไปพยายามตีเมือง ปัตตานีใน พ.ศ. ๒๑๗๗ แม้ว่ากองทัพอยุธยาไม่สามารถตีเมืองปัตตานีได้ แต่ “นางพญาตานี” องค์ใหม่ ก็ยอมส่งเครื่องบรรณาการมาถวายใน พ.ศ. ๒๑๗๘ ในช่วงปลายรัชกาลเกิดกบฏของตระกูล “สุลต่าน สุลัยมาน” ที่สงขลา กรุงศรีอยุธยาส่งกองทัพไปปราบหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถปราบได้ อาจสรุปได้ ว่าโดยทั่วไปแล้วสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงพยายามรักษาความสงบและทรงขยายพระราชอำนาจ ไปสู่หัวเมืองต่างๆในบริเวณอ่าวไทย เนื่องจากเมืองท่าต่างๆในอ่าวไทยและคาบสมุทรมลายูอุดม สมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางเศรษฐกิจ

สำหรับด้านเศรษฐกิจ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง การค้ากับต่างประเทศเจริญรุ่งเรือง มาก โดยเฉพาะการค้ากับฮอลันดา (ผ่านบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา หรือ V.O.C.) และ การค้ากับเมืองท่าต่างๆในอนุทวีปอินเดีย บริษัท V.O.C. ส่งออกของป่า หนังกระเบน แร่ดีบุก และ ข้าวสารจากเมืองไทย สินค้าที่สำคัญที่สุดสำหรับการค้าของฮอลันดากับญี่ปุ่น ได้แก่ หนังกวาง หนังกระเบน และไม้ฝางจากไทย ฮอลันดาจึงต้องการสิทธิพิเศษทางการค้า สมเด็จพระเจ้า ปราสาททองทรงยอมให้บริษัท V.O.C. ได้สิทธิผูกขาดในการส่งออกหนังสัตว์เป็นเวลาหนึ่งปีเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๗ เพื่อแลกเปลี่ยนกับกองเรือฮอลันดามาช่วยกองทัพอยุธยารบกับปัตตานี หลังจากนั้น ได้พระราชทานสิทธิพิเศษนี้โดยถาวร สยามติดต่อกับชาวโปรตุเกสทั้งทางด้านการค้าและการทูต สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงแลกเปลี่ยนคณะทูตกับอุปราชโปรตุเกส ยังผลให้ความสัมพันธ์กับ โปรตุเกสและสเปนที่เคยตึงเครียดตั้งแต่ต้นรัชกาลและในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมคลี่คลายไป ในทางที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ พ่อค้าอินเดีย เปอร์เซีย อาร์มีเนีย เดินเรือมาเมืองไทยเป็นประจำ และเรือหลวงไทย ก็ไปค้าขายที่เมืองท่าในเบงกอล ชายฝั่งโคโรมันเดลและคุชราฐ พ่อค้าจากเมืองท่าต่างๆในอินเดียนำ ผ้าฝ้าย ผ้าพิมพ์ลาย ผ้าวาดลายมาขายในอยุธยา และซื้อสินค้า เช่น ช้าง ดีบุก กับสินค้าจีนนำกลับไป อินเดีย

รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองตรงกับช่วงที่การค้านานาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้กำลังเฟื่องฟูเป็นพิเศษ เนื่องจากตลาดโลกต้องการสินค้าจากภูมิภาคนี้ เช่น เครื่องเทศ พริกไทย และของป่าบางชนิด ด้วยจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมนี้ ราชอาณาจักรสยามจึงได้เข้ามามีส่วนร่วมใน “ยุคสมัยแห่งการค้า” ส่งผลให้ท้องพระคลังได้รับผลประโยชน์และนำกำไรมาสู่สยามอย่างต่อเนื่อง ตลอดรัชกาล

ในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงปรับปรุงวิธีการปกครองให้ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น โดยโปรดให้ขุนนางที่เป็นเจ้าเมืองเข้ามาพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แล้วทรงส่งผู้รั้งเมืองไปปกครองหัวเมืองแทน ขุนนางฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้มีหน้าที่ต้องเข้าเฝ้าที่ ศาลาลูกขุนในพระราชวังหลวงทุกวัน หรืออีกนัยหนึ่งคือทรงพยายามดึงพระราชอำนาจทางการเมือง เข้าสู่ส่วนกลางมากขึ้น นอกจากนั้นสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากการที่ สังคมขาดกฎหมายที่ใช้รักษาระเบียบ ในรัชกาลพระองค์จึงมีการตรากฎหมายขึ้นหลายลักษณะ เช่น พระไอยการทาษ พระไอยการลักษณะมรดก พระไอยการลักษณะกู้หนี้ และพระไอยการลักษณะอุธร

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ และทรงสร้างพระตำหนักและพระราชวังหลายแห่ง ดัง ปรากฏเป็นมรดกด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมมาจนทุกวันนี้ พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวัง และวัดชุมพลนิกายารามที่บางปะอิน ปราสาทนครหลวงบนเส้นทางไปพระพุทธบาท พระตำหนัก ธารเกษมที่พระพุทธบาท พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ และพระวิหารสมเด็จในพระราชวังหลวงที่ กรุงศรีอยุธยา แต่ผลงานที่โดดเด่นที่สุดในรัชกาลนี้ ได้แก่ วัดไชยวัฒนาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวง ฝ่ายอรัญวาสีซึ่งสร้างขึ้นในสถานที่ที่เคยเป็นบ้านของพระชนนีของพระองค์ สถาปัตยกรรมที่วัดแห่งนี้ สะท้อนอิทธิพลเขมร เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงส่งช่างไปถอดแบบการสร้างปราสาท มาจากราชอาณาจักรเขมร นอกจากนั้นในช่วงที่จุลศักราชกำลังจะเวียนมาครบ ๑ พันปี (พ.ศ. ๒๑๑๘- พ.ศ. ๒๑๘๒) ราษฎรเกิดความวิตกว่าจะถึงกลียุค สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงโปรดให้จัดงาน พระราชพิธีลบศักราชมีการทำบุญทำทานเป็นเวลาหลายวัน ในช่วงเดียวกันนั้นมีการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดวาอารามในราชธานีและบริเวณใกล้เคียงกว่าหนึ่งร้อยแห่ง

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๑๙๙ รัชกาลของพระองค์เป็นช่วงเวลา ของความรุ่งเรืองทางด้านการค้ากับต่างประเทศและการบริหารราชการแผ่นดินแบบรวมศูนย์ แม้ว่า พระองค์จะทรงพระปรีชาสามารถปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบเรียบร้อยมาตลอดรัชกาล แต่เมื่อ สิ้นรัชกาลกลับมีปัญหาความขัดแย้งกันในหมู่เจ้านายและขุนนาง เกิดการต่อสู้ การแย่งชิงราชสมบัติ ซึ่งพระนารายณ์พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองประสูติแต่พระมเหสีที่เป็นพระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ขึ้นครองราชย์ในลำดับถัดมา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงเป็น พระมหากษัตริย์ที่มีทั้งสายพระโลหิตราชวงศ์สุโขทัยและราชวงศ์ปราสาททอง

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »