พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๙

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๙


พระมหาธรรมราชาที่ ๔ (บรมปาล) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์ พระร่วงกรุงสุโขทัย เสวยราชสมบัติตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๖๒ ถึง พ.ศ. ๑๙๘๑

พระมหาธรรมราชาที่ ๔ เป็นพระราชโอรสในพระมหาธรรมราชาที่ ๒ และเป็นพระอนุชาของ พระราชเทวีพระเจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีอยุธยา (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นพระราชโอรสของ พระราชเทวีส่วนพระยายุทธิษเฐียรเป็นพระราชโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ จึงเป็นลูกผู้น้อง ส่วนสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นลูกผู้พี่)

จารึกหลักที่ ๔๐ (จารึกเจดีย์น้อย ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๔๗ ถึง พ.ศ. ๑๙๘๑) มีข้อความว่า ถ้าสมเด็จ เจ้าพระยา (คือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) อยากเสด็จมาสักการะพระมหาธาตุ หรือธาตุ (กระดูก) พระมหาธรรมราชาธิราช (ที่ ๒ พระอัยกา หรือตาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) น้าพระยา (บรมปาล) ก็จะไม่ทรงกระทำสรรพอันตรายแด่พระภาคิไนย (หลานของน้า) ตลอดจนไพร่พลของ พระภาคิไนยที่จะมาสู่สำนักของพระองค์ ทั้งสององค์ทรงถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะทรงซื่อตรงต่อกัน ตลอดไป

พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์มีข้อความว่า “ศักราช ๗๘๑ กุญศก มี ข่าวมาว่า พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้านฤพาน แลเมืองเหนือทั้งปวงเป็นจลาจล แลจึงเสด็จไปเถิงเมือง พระบาง ครั้งนั้นพระยาบาลเมืองและพระยารามออกถวายบังคม” แสดงความว่าสุโขทัยแตกแยกกัน เป็นสองฝ่าย คือพระยาบาลเมืองแห่งเมืองพิษณุโลกและพระยารามแห่งสุโขทัย ต่างคนต่างแย่งกัน เป็นพระมหาธรรมราชาใน พ.ศ. ๑๙๖๒ แต่ทางอยุธยาสนับสนุนให้พระยาบาลเมืองขึ้นเป็นพระมหา ธรรมราชาที่ ๔

เมื่อพระภิกษุเชียงใหม่นำศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์ใหม่เข้ามาถึงแคว้นสุโขทัย ประมาณ พ.ศ. ๑๙๗๒ นั้น สุโขทัยแตกแยกเป็น ๔ แคว้น คือ พระยาบาลครองพิษณุโลก พระยารามครองสุโขทัย พระยาแสนสอยดาวครองกำแพงเพชร และพระยาไสศรียศครองชะเลียง (สวรรคโลก) ดังปรากฏใน ตำนานมูลศาสนา (ก) ฝ่ายวัดสวนดอกเชียงใหม่ (ข) ฝ่ายวัดยางควงเชียงตุง และ (ค) ฝ่ายวัดป่าแดง เชียงตุง พระราชพงศาวดารฉบับปลีกได้กล่าวถึงสุโขทัยที่ยกทัพมาช่วยอยุธยาว่ามี ๔ แคว้นเหมือนกัน ใน จ.ศ. ๘๔๖ ซึ่งปรับศักราชให้ถูกต้องควรเป็น จ.ศ. ๗๙๔ หรือ พ.ศ. ๑๙๗๕ จารึกหลักที่ ๒๙๒ พ.ศ. ๑๙๖๓ กล่าวถึงเสด็จพ่อพระยาสอยเสวยราชย์ในกำแพงเพชร จารึกหลักที่ ๒๙๓ พ.ศ. ๑๙๖๖ กล่าวถึงเสด็จทา (ไท/ไท้) คือ พระยาศรียศราช ไม่มีประวัติว่านำจารึกมาจากที่เดิมแต่เมื่อใด

จารึกหลักที่ ๑๒ พ.ศ. ๑๙๖๙ (ถ้านับปีย่างแบบลังกาและสุโขทัยจะเป็น พ.ศ. ๑๙๗๐) จารึก รอยพระพุทธยุคลบาทมีข้อความว่า พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า (บรมปาล) ผู้มีอิสราธิบดีในชัยนาทบุรี (เป็นใหญ่ในพิษณุโลก) ทรงให้จำลองรอยพระพุทธบาททั้งคู่ลงบนศิลาที่มาจากเมืองสุโขทัยด้วย พระราชานุเคราะห์แห่งพระชนก (พระมหาธรรมราชาที่ ๒) ปัจจุบันจารึกนี้อยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์มีใจความว่า ศักราช ๘๐๐ (พ.ศ. ๑๙๘๑) สมเด็จพระราเมศวร (เป็นตำแหน่งวังหน้าหรือรัชทายาท) เสด็จไปเมืองพิษณุโลก ครั้งนั้นเห็น น้ำพระเนตรพระพุทธชินราชตกออกมาเป็นโลหิต นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับข้อสันนิษฐานของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า พระพุทธชินราชซึ่งเป็นพระคู่เมืองสุโขทัย ได้อยู่มาจนเห็นการแตกดับของสุโขทัย แต่มีบางคนอ้างพระราชพงศาวดารฉบับปลีกว่า ใน พ.ศ. ๑๙๘๔ พระยาบาลเมือง เจ้าเมืองพิษณุโลกได้รับพระราชทานนามว่า มหาธรรมาธิราช (อีกครั้งหนึ่ง) แท้จริง ศักราชที่ปรับลดลงมาเป็น ๔๐ ปีแล้วนั้นยังไม่ถูกต้อง ต้องลบออกอีก ๑๒ ปีเป็น พ.ศ. ๑๙๗๒

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »