พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๑๘

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๑๘


สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๘ แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชากับพระวิสุทธิกษัตรีย์ ประสูติที่เมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๘ มีพระพี่นาง ๑ พระองค์คือสมเด็จพระสุพรรณกัลยา มีพระอนุชาพระองค์หนึ่งคือสมเด็จ พระเอกาทศรถ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสืบเชื้อสายทั้งราชวงศ์สุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ทรง ใช้ชีวิตในวัยเยาว์ที่เมืองพิษณุโลก ก่อนจะถูกนำพระองค์ไปพม่าเมื่อพระชนมายุได้ ๙ พรรษา และ ประทับที่พม่าจนพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ดังนั้นพระองค์จึงทรงเจริญวัยขึ้นท่ามกลางภาวะสงคราม ที่ไทยต้องเป็นฝ่ายตั้งรับจากการจู่โจมของพม่า ท่ามกลางความขัดแย้งในพระราชวงศ์ของไทย ท่ามกลางความดูแคลนเหยียดหยามเมื่อไทยอยู่ในฐานะประเทศราชของพม่า

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จกลับจากพม่า ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาเสื่อมโทรมอย่าง เห็นได้ชัด ป้อมค่ายถูกทำลายรื้อถอน ผู้คนถูกกวาดต้อนไปพม่า ความมั่งคั่งร่ำรวยที่สั่งสมกันมากว่า สองร้อยปีและความสมบูรณ์พูนสุขลดลงไปเพราะสงครามและขาดแคลนแรงงาน ร่องรอยความเสีย หายจากการสงครามยังปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป เพราะไม่มีการบูรณปฏิสังขรณ์ อีกทั้งยังมีกองทัพพม่า ประจำอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้กรุงศรีอยุธยากระด้างกระเดื่อง ส่วนทางตะวันออก เขมรก็ได้ส่งกองทัพ มาซ้ำเติมโดยกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สมบัติในยามที่กรุงศรีอยุธยาเสื่อมอำนาจ

สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงมอบหมายให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปกครองหัวเมืองเหนือ โดยประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกหลังจากเสด็จกลับจากพม่าไม่นานนัก คือใน พ.ศ. ๒๑๑๔ ในระยะ เวลา ๑๔ ปีที่ทรงปกครองหัวเมืองเหนืออยู่นั้น ทรงดำเนินการหลายอย่างที่จะมีความสำคัญในอนาคต เช่น การฝึกหัดข้าราชการ การรวบรวมกำลังคนที่หลบหนีพม่า การฝึกฝนยุทธวิธีการรบ การสร้างขวัญ กำลังใจให้เกิดขึ้นมาใหม่ ดังนั้นหัวเมืองเหนือจึงเป็นฐานเริ่มต้นที่สำคัญในการกอบกู้เอกราชของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

การที่เขมรโจมตีถึงเมืองหลวงและชายแดนของกรุงศรีอยุธยาทำให้กรุงศรีอยุธยาสามารถอ้าง เหตุผลเพื่อการเสริมสร้างกำลังขึ้นได้ เพราะเพียงระยะก่อนการประกาศอิสรภาพใน พ.ศ. ๒๑๒๗ เขมร ส่งกองทัพเข้ามาถึง ๕ ครั้ง คือใน พ.ศ. ๒๑๑๓ พ.ศ. ๒๑๑๘ พ.ศ. ๒๑๒๒ พ.ศ. ๒๑๒๔ และ พ.ศ. ๒๑๒๕ ทั้งใน พ.ศ. ๒๑๒๔ ยังเกิดกบฏญาณพิเชียรที่ลพบุรี การที่ต้องต่อสู้ป้องกันและขับไล่ศัตรูและ ต้องปราบปรามกบฏภายใน ทำให้ต้องมีการเสริมสร้างกำลังไพร่พลและเตรียมการป้องกันให้เข้มแข็ง ดังใน พ.ศ. ๒๑๒๓ มีการขยายแนวกำแพงเมืองไปถึงแนวแม่น้ำ

การหาจังหวะประกาศอิสรภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชน่าจะเกิดขึ้นหลังจากการไปเฝ้า พระเจ้านันทบุเรงในโอกาสขึ้นครองราชย์ใหม่ และทรงได้แสดงฝีมือช่วยกษัตริย์พม่าปราบเจ้าฟ้าไทยใหญ่ เมืองคังได้สำเร็จ การที่พม่าตัดถนนเข้ามากำแพงเพชร ยิ่งต้องทำให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเร่ง หาโอกาสให้เร็วขึ้น ดังนั้นในปลาย พ.ศ. ๒๑๒๖ เมื่อพระองค์ได้รับมอบหมายให้ไปช่วยพระเจ้านันทบุเรง ปราบเมืองอังวะ จึงทรงเดินทัพไปช้าๆ เพื่อหาจังหวะโจมตีหงสาวดี ระหว่างที่พระเจ้านันทบุเรงไม่อยู่ หรืออย่างน้อยเพื่อให้มีโอกาสนำคนไทยที่ถูกกวาดต้อนไปกลับคืนประเทศ

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงในเขตแดนพม่าตอนล่าง อันเป็น ถิ่นเดิมของมอญ ใน พ.ศ. ๒๑๒๗ หลังจากที่ทรงรับรู้ว่าพม่าวางแผนกำจัดพระองค์เหมือนกัน พระองค์ ประกาศว่า “ตั้งแต่วันนี้กรุงศรีอยุธยาขาดทางไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรกันดังแต่ก่อนไป” แล้วส่งคนไปชักชวนให้คนไทยที่ถูกกวาดต้อนกลับกรุงศรีอยุธยา เป็นที่น่าสังเกตว่าการประกาศ อิสรภาพในครั้งนี้ทรงกระทำในขณะที่ทรงเป็นรัชทายาท โดยที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชยังไม่ ทรงทราบ

พระเจ้านันทบุเรงไม่เปิดโอกาสให้ไทยได้ตั้งตัวติด ในทันทีที่ทราบว่าแผนการกำจัดสมเด็จพระ นเรศวรมหาราชของพระองค์ล้มเหลว และสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพ จึงทรงส่ง กองทัพติดตามโจมตีสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทันที อย่างไรก็ดี การโจมตีของกองทัพพม่าแต่ละครั้ง มีแต่แสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นแม่ทัพที่ปรีชาสามารถและกล้าหาญ ความเก่ง กล้าของกองทัพพม่าที่เคยมีในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง (พ.ศ. ๒๐๙๔–พ.ศ. ๒๑๒๔) ได้หมดไปเมื่อเผชิญ กับกองทัพกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระอนุชาธิราช การที่ทรงใช้ “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง” (พ.ศ. ๒๑๒๗) และ “พระแสงดาบคาบค่าย” (พ.ศ. ๒๑๒๘) ล้วน เป็นเรื่องเล่าขานให้เห็นถึงความกล้าหาญของแม่ทัพไทย กองทัพพม่าขนาดใหญ่มีรี้พลมากมายถึง ๒๕๐,๐๐๐ คน และนำโดยพระเจ้านันทบุเรง ใน พ.ศ. ๒๑๒๙–พ.ศ. ๒๑๓๐ ยังถูกกองทัพไทยของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระอนุชาขับไล่ออกไปและประสบความเสียหายอย่างยับเยิน ยังผล ให้การโจมตีของกองทัพพม่าต้องว่างเว้นไปถึง ๓ ปี การล่าถอยของกองทัพพม่าในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า อิสรภาพของเมืองไทยเป็นเรื่องที่ปลอดภัยและยั่งยืน และในปีเดียวกันนี้ยังทรงทำให้กัมพูชาอยู่ใน อำนาจกรุงศรีอยุธยาได้อีกครั้งด้วย

ก่อนที่จะถึงศึกใหญ่จากพม่าในรอบสอง มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา นั่น คือในปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๑๓๓ สมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศวร มหาราชจึงได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ พร้อมกันนี้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นเสมือนกษัตริย์องค์ที่ ๒ “พระองค์ดำ” และ “พระองค์ขาว” จึงเป็นพระนามที่ชาวตะวันตกเรียกขานพระนามตามสีพระวรกาย กษัตริย์ไทยทั้งสองพระองค์ตามลำดับ

กองทัพพม่าเริ่มโจมตีกรุงศรีอยุธยาเป็นระลอกสอง ใน พ.ศ. ๒๑๓๓ หลังการผลัดแผ่นดินเพียง ๔ เดือน โดยมีพระมหาอุปราชาเป็นแม่ทัพคุมพล ๒๐๐,๐๐๐ คน มาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงนำทัพออกไปรับมือกับข้าศึกที่เมืองสุพรรณบุรีและสามารถขับไล่ กองทัพพม่าออกไปได้อย่างง่ายดาย ทำให้ทัพพม่าเสียหายอย่างยับเยิน ๒ ปีต่อมาพระมหาอุปราชา ได้ทรงนำทัพพม่ามาอีกในสงครามที่มีความสำคัญและเป็นที่เลื่องลือในการสู้รบระหว่างประเทศทั้งสอง นั่นคือแม่ทัพทั้งสองฝ่ายพร้อมด้วยแม่ทัพรองได้ทำยุทธหัตถีกันที่หนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี เมื่อ วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕

ผลของการทำยุทธหัตถีคือพระมหาอุปราชาถูกฟันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง ส่วนอีกคู่สมเด็จพระ เอกาทศรถก็ทรงได้ชัยชนะอีกเช่นกัน หลังสงครามครั้งนี้ โฉมหน้าของการสงครามได้เปลี่ยนไป พม่า ไม่กล้ายกกองทัพมาโจมตีไทยอีกและเว้นว่างไปนานกว่า ๑๐๐ ปี และไทยกลับเป็นฝ่ายตอบโต้ พม่าบ้าง พม่าจึงต้องเป็นฝ่ายตั้งรับแทน

สงครามยุทธหัตถีไม่เพียงแต่พลิกสถานการณ์ใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเพื่อนบ้านอื่น ๆด้วย เขมรถูกสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตอบโต้ โดยทรงยกกองทัพไป โจมตีถึงกรุงละแวกใน พ.ศ. ๒๑๓๖ สงครามดำเนินมาถึงต้นปีถัดมา แม้ว่ากองทัพไทยจะยึดกรุงละแวก จับพระยาศรีสุพรรณมาธิราชอนุชาพระยาละแวกได้ แต่พระยาละแวกคือนักพระสัฏฐาสามารถหลบหนี เข้าไปในเขตแดนลาวได้และสิ้นพระชนม์ที่นั่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกกองทัพไปตีเขมรอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๑๔๖ คราวนี้ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด แต่การตอบโต้ส่วนใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั้นกระทำต่อพม่าซึ่งกำลังเสื่อมอำนาจและแตกแยก อันเป็นผลจากความอ่อนแอที่ไม่สามารถปราบ กรุงศรีอยุธยาได้ และแม้ว่าการยกกองทัพไปโจมตีพม่าจะเต็มไปด้วยความยากลำบากเพราะต้องขึ้นไป ที่สูงที่เป็นภูเขา แต่กองทัพไทยก็ยกไปถึง ๕ ครั้ง คือใน พ.ศ. ๒๑๓๕ พ.ศ. ๒๑๓๗ พ.ศ. ๒๑๓๘ พ.ศ. ๒๑๔๒ และ พ.ศ. ๒๑๔๗ ซึ่งเป็นการยกทัพครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพราะ เสด็จสวรรคตในระหว่างทางที่เมืองหางเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘ การขยายอำนาจของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำให้เขตแดนกรุงศรีอยุธยาแผ่ออกไปได้กว้างไกลที่สุดนับแต่สถาปนา กรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา คือครอบคลุมทั้งเขตแดนมอญ พม่า ล้านนา ไทยใหญ่ ล้านช้าง และเขมร

แม้ว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะทรงอุทิศเวลาเกือบตลอดรัชสมัยให้กับสงครามเพื่อเสริม สร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ให้กับกรุงศรีอยุธยา แต่ความมั่นคงและยิ่งใหญ่มิได้อยู่เฉพาะเพียง ชัยชนะของสงครามเท่านั้น หากขึ้นกับวินัยและขวัญของประชาชนด้วย ดังที่พระองค์ขอคำมั่นจาก บุคคลที่อัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ การควบคุมกำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างวินัยที่ต้อง เชื่อฟังพระองค์และเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด การลดความละโมบของประชาชนถึงขนาดไม่สนใจ ทองที่ทิ้งอยู่กลางถนน พระองค์ทรงกวดขันเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ถึงกับปลอมพระองค์ออกตรวจตรา บ้านเมืองและสอดส่องทุกข์สุขของประชาชนด้วยพระองค์เอง

นอกจากนี้ความมั่นคงยังขึ้นกับความมั่งคั่งร่ำรวยของอาณาจักรด้วย ซึ่งสิ่งที่จะได้มาก็โดยการค้า ระหว่างประเทศ โปรตุเกสในฐานะที่เป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาค้าขายและเผยแผ่ศาสนายังคง ดำเนินกิจการอยู่ และอาวุธปืนของโปรตุเกสก็เป็นที่ต้องการของไทยมาก ต่อมาใน พ.ศ. ๒๑๔๗ ฮอลันดาซึ่งมาค้าขายที่ปัตตานีเมื่อ ๓ ปีที่แล้วก็เข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา การติดต่อค้าขายเช่นนี้ไม่เพียง แต่ทำให้เกิดความมั่งคั่งมั่นคง แต่ยังทำให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีโลกทัศน์กว้างไกลยิ่งขึ้น ถึงกับมี การส่งทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับฮอลันดาก่อนที่จะสวรรคตเล็กน้อย ส่วนการค้ากับชาติเอเชีย การค้ากับจีนมีความสำคัญมาก เพียงหนึ่งปีหลังการประกาศอิสรภาพทรงส่งทูตไปยังราชสำนักหมิง (พ.ศ. ๑๙๑๑-พ.ศ. ๒๑๘๗) ซึ่งปกครองจีนในเวลานั้น เพื่อขอพระราชทานตราแผ่นดินแทนของเก่าที่ ถูกพม่ายึดไป และจากนี้การค้ากับจีนก็ได้เริ่มขึ้นใหม่ แน่นอนว่าการค้าทางทะเลของไทยขยายตัวออก ไปอย่างกว้างขวางในทะเลด้านตะวันออกอันรวมถึงญี่ปุ่นด้วย เมื่อญี่ปุ่นในสมัยโตโยโตมิ ฮิเดโยชิ (พ.ศ. ๒๐๗๙-พ.ศ. ๒๑๔๑) มีแผนการใหญ่ที่จะยึดครองจีนและเริ่มต้นโดยการส่งกองทัพเข้าไปเพื่อ ยึดครองเกาหลีซึ่งเป็นรัฐบรรณาการของจีนก่อนใน พ.ศ. ๒๑๓๕ (ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับสงคราม ยุทธหัตถี) สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเสนอที่จะส่งกองทัพเรือไทยไปช่วยจีนปราบญี่ปุ่น แต่ จักรพรรดิจีนได้ปฏิเสธข้อเสนอของไทย

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคต พ.ศ. ๒๑๔๘ เมื่อพระชนมายุ ๕๐ พรรษา ทรงครอง ราชสมบัติ ๑๕ ปี ไม่ทรงมีพระราชโอรส พระอนุชาคือสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ต่อ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงได้รับการยกย่องเชิดชูในประวัติศาสตร์ไทยที่ทรงกอบกู้เอกราช ทำให้บ้านเมืองมีความมั่นคง มีอำนาจที่ยิ่งใหญ่ และมีความเจริญรุ่งเรือง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญมากพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »



ตำแหน่ง

Lek Thi 206 Soi 8 ตำบล เนินมะปราง อำเภอเนินมะปราง พิษณุโลก 65190 ประเทศไทย


คำอธิบายการค้นหา

Num ... 2627615 blogger Blog for save Make safe editor Sight seeing view blog ID ... Phasa Thai รายละเอียดคำศัพท์ ... 

☆ เซฟบล็อก! ☆