พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๗

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๗


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปก ศักดิเดชน์ฯ ทรงเริ่มศึกษาตามประเพณีขัตติยราชกุมาร ทรงเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษในโรงเรียน นายร้อยชั้นประถม มีพระอาจารย์ถวายอักษรเพิ่มเติมวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษในพระราชวัง ดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการ พระราชพิธีโสกันต์พระราชทานเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ภายหลังพระราชพิธีโสกันต์แล้ว มี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา

ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ เสด็จไปทรงศึกษาวิทยาการในประเทศยุโรป ณ วิทยาลัยอีตัน (Eton College) ประเทศอังกฤษ จากนั้นใน พ.ศ. ๒๔๕๔ - พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ม้าโรงเรียน นายร้อยเมืองวูลิช (Royal Military Academy, Woolwich) ประเทศอังกฤษ และเสด็จไปประจำกรม ทหารปืนใหญ่ม้าอังกฤษ ณ เมืองออลเดอชอต (Aldershot) เพื่อทรงศึกษาและฝึกฝนหน้าที่นายทหาร แต่เนื่องจากภาวะสงครามในยุโรปลุกลามจนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ พระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จนิวัตประเทศไทย

ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงรับราชการในตำแหน่งนายทหารคนสนิทของจอมพล สมเด็จพระอนุชา ธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนขึ้น เป็นผู้บังคับกองร้อยทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์และทรงดำรงพระยศเป็นนายร้อยเอก จากนั้นทรงย้าย ไปรับราชการประจำกรมบัญชาการกองทัพน้อยที่ ๒ ในตำแหน่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการ และได้เลื่อน พระยศเป็นนายพันตรีตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงลาราชการเพื่อทรงพระผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และประทับ จำพรรษาจนครบไตรมาส ณ พระตำหนักทรงพรต วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อทรงลาสิกขาแล้วกราบ บังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีอภิเษก สมรสพระราชทานในวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ณ พระที่นั่งวโรภาสพิมาน พระราชวังบางปะอิน และมีพิธีขึ้นตำหนักใหม่ วังศุโขทัย ถนนสามเสน 

ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ พันโท สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาและ พระชายาได้เสด็จยุโรปเพื่อรักษาพระองค์ เมื่อแพทย์วินิจฉัยพระโรคแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้เป็นอะไรร้ายแรง จึงตัดสินพระทัยเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกฝรั่งเศส (École de Guerre) มี พระสหายร่วมรุ่นที่ต่อมามีบทบาทสำคัญทางการทหารและการเมืองของฝรั่งเศสคือ ร้อยเอก ชาร์ล เดอ โกลล์ (Charles de Gaulle) ซึ่งต่อมาคือประธานาธิบดีฝรั่งเศส ทรงสำเร็จการศึกษาในเดือน กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๗

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อนสมเด็จพระเจ้า น้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวง และทรงสถาปนาขึ้นเป็นรัชทายาทในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทรงอัญเชิญสมเด็จพระเจ้า น้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๗ แห่งพระราชวงศ์จักรี ได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ พระราชทานปฐมบรมราชโองการว่า “…ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระ ครองแผ่นดินโดยธรรม สม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เป็นที่พึ่งจัดการปกครองรักษาป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบายเทอญฯ” 

พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาและการศาสนา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง ปฏิรูปมหาวิทยาลัยโดยทรงสร้างกลไกการปฏิรูป คือ แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดผลเร็วขึ้นและบรรลุผลทั่วทั้งแผ่นดิน นับเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงและผู้ชายได้รับความเสมอภาคทางการศึกษา ให้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาระดับ ปริญญาตรีคณะแพทยศาสตร์โดยเปิดรับนิสิตหญิงเข้าเรียนเตรียมแพทย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ จำนวน ๗ คน และยกระดับมาตรฐานการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่ระดับปริญญาตรีอย่างสมบูรณ์ คือ การประสาทปริญญาเวชชบัณฑิตชั้นตรี (แพทยศาสตรบัณฑิต) เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓

ส่วนทางด้านศาสนา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ อักษรไทยสมบูรณ์ขนานนามว่า “พระไตรปิฎกสยามรัฐ” จัดพิมพ์จำนวน ๑,๕๐๐ จบ (จบหนึ่งมี ๔๕ เล่ม) พระราชทานในพระราชอาณาจักร ๒๐๐ จบ และแจกจ่ายไปตามมหาวิทยาลัยและหอสมุด นานาชาติทั่วโลกจำนวน ๔๕๐ จบ อีก ๘๕๐ จบ พระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์เพื่อขอรับพระ ไตรปิฎก (อัตราจบละ ๔๕๐ บาท) นอกจากนี้โปรดเกล้าฯ ให้มีการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก โดยโปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตสภา (ปัจจุบันคือราชบัณฑิตยสถาน) ทำหน้าที่ออก ประกาศเชิญชวนและคัดเลือกหนังสือเรื่องที่แต่งดีเห็นสมควรได้รับพระราชทานรางวัลนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงตัดสินว่าเรื่องใดสมควรได้รับรางวัลที่ ๑ หรือที่ ๒ และมีพระมหากรุณาธิคุณทรง พระราชนิพนธ์คำนำให้เป็นเกียรติแก่ผู้แต่งด้วย หนังสือเรื่องแรกที่ได้รับพระราชทานรางวัลประจำปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เรื่อง “สาสนคุณ” แต่นั้นมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก และจัดพิมพ์แจกจ่ายในพระราชพิธีวิสาขบูชาเป็นประจำทุกปีซึ่งได้มีการดำเนินการสืบมาจนถึงรัชกาล ปัจจุบัน 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะปรับปรุงการปกครองท้องถิ่นให้เป็น แบบเทศบาล เพื่อให้เป็นพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ต้นรัชกาล เมื่อทรงสร้าง “สวนไกลกังวล” เป็นที่ประทับที่หัวหินแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการจัดสภาบำรุงสถาน ที่ทะเลฝั่งตะวันตก พุทธศักราช ๒๔๖๙ เพื่อเป็นแนวพระราชดำริให้ประเทศปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยในภายหน้า “สภาบำรุงฯ” จึงเป็นการทดลองปกครองตนเองระดับท้องถิ่นในรูปแบบ municipality หรือประชาภิบาล (ภายหลังเรียกว่าเทศบาล)

แนวพระราชดำริที่จะให้ระบอบประชาธิปไตยหยั่งรากลึกนั้น จะต้องให้ประชาชนมีความรู้ความ เข้าใจระบอบการเมืองการปกครอง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีความคุ้นเคยกับการปกครอง ตนเองในระดับท้องถิ่น ปรากฏชัดเจนในพระราชบันทึก “Democracy in Siam” ซึ่งต่อมาคณะ ราษฎรเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการปกครองท้องถิ่นในรูปของเทศบาล เพื่อให้เป็นรากฐานแห่ง การปกครองระบอบประชาธิปไตย และปลูกฝังให้ราษฎรเข้าใจถึงคุณประโยชน์ของการปกครองใน ระบอบรัฐสภา จึงให้ประกาศพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๗๖ 

พระราชดำริสำคัญอีกประการหนึ่งคือระเบียบข้าราชการ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะวางระเบียบข้าราชการพลเรือนเป็นข้าราชการอาชีพ โดยไม่แสวงหาผลประโยชน์ ทางอื่น เปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ดีเข้ารับราชการ มีระบบสรรหาเป็นกลางและยุติธรรม มีระเบียบวินัย เป็นแบบแผนเดียวกันเพื่อให้ข้าราชการได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งมีสิทธิหรือหน้าที่ต่อราชการเสมอ เหมือนกัน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเรื่องการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ได้มีพระราชหัตถเลขาถึงพระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis B. Sayre) ในหัวเรื่อง “Problems of Siam” ประกอบด้วยพระราชปุจฉา ๙ ข้อ เกี่ยว กับสภาพการณ์ทางการเมืองที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในตอนต้นรัชกาล พระยากัลยาณไมตรีตอบ พระราชปุจฉาทุกข้อ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญฉบับสั้นๆ ๑๒ มาตรา แสดงถึงโครงสร้าง ของรัฐบาลที่ควรจะเป็นตามความเห็นของพระยากัลยาณไมตรีโดยใช้ชื่อว่า “Outline of Preliminary Draft” นับเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก พ.ศ. ๒๔๖๙ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒ นั้น โปรดเกล้าฯ ให้นายเรมอนด์บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ และพระยา ศรีวิสารวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศร่วมกันยกร่าง แล้วเสร็จในวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เพียง ๓ เดือนเศษเท่านั้น ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นภาษาอังกฤษมีชื่อว่า “An Outline of Changes in the Form of Government” เนื้อหาสำคัญคือกำหนดรูปแบบการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจบริหาร และนิติบัญญัติตลอดจนวิธีการเลือกตั้งและแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหลักการดังกล่าว ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ อนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ กรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๑๕๐ ปีในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฉลองพระนคร ๑๕๐ ปีและโปรดให้สร้างสะพานสมเด็จพระ พุทธยอดฟ้า และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นเป็นที่ระลึก 

อย่างไรก็ตาม เช้าตรู่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ ลานพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวัง ดุสิต พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้า “คณะราษฎร” อ่านประกาศ คณะราษฎร ฉบับที่ ๑ มีเนื้อหาโจมตีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ความไม่เหมาะสม ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบ พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งประกาศหลัก ๖ ประการในการปกครอง คณะราษฎร สามารถยึดอำนาจในกรุงเทพฯ ได้ แล้วจับกุมพระบรมวงศ์และข้าราชการตำแหน่งสำคัญๆไว้เป็น ตัวประกัน และได้มีหนังสือกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินคืนสู่พระนคร เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

วันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎรนำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครอง แผ่นดินสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ พร้อมด้วยร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการ ปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ณ วังศุโขทัย เพื่อลงพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ลงพระปรมาภิไธยเฉพาะร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมใน คราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕ เพียงฉบับเดียว ส่วนร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญ การปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ นั้น ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ทรงรับไว้พิจารณาและ โปรดเกล้าฯ นัดหมายให้คณะราษฎรมาเฝ้าในวันรุ่งขึ้น เมื่อได้ทรงพิจารณาโดยถี่ถ้วนแล้วได้ลง พระปรมาภิไธยและทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ในชื่อของรัฐธรรมนูญฉบับแรก พระราชบัญญัติ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ประกาศใช้วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

เมื่อคณะราษฎรได้ปกครองประเทศระยะหนึ่ง หลักการและการกระทำบางประการของคณะ ราษฎรขัดแย้งกับพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กอปรกับพระพลานามัยเสื่อม ลง และเสถียรภาพการเมืองที่ยังไม่มั่นคงนัก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จ พระราชดำเนินไปผ่าตัดพระเนตรพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีณ ประเทศ อังกฤษ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังจากทรงรับการผ่าตัดแล้ว ความขัดแย้งระหว่าง พระองค์กับคณะรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไป ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติในวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ขณะประทับ ณ พระตำหนักโนล (Knowle House) เมืองแครนลี (Cranleigh) มณฑลเซอร์เรย์ (Surrey) ประเทศอังกฤษ

หลังจากทรงสละราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ โดยทรงใช้พระนามและพระอิสริยยศเดิมคือ สมเด็จเจ้าฟ้า ประชาธิปกศักดิเดชน์กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา และทรงย้ายที่ประทับจากพระตำหนักโนล ซึ่งมี ขนาดใหญ่ ค่าเช่าแพง และค่อนข้างทึบ ไม่เหมาะสมกับพระพลานามัยไปประทับที่พระตำหนักใหม่ ขนาดเล็กลง คือ พระตำหนัก “เกลน แพมเมนต์” (Glen Pamment) หลังจากประทับอยู่ที่พระตำหนัก เกลน แพมเมนต์ประมาณ ๒ ปีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยทรุดโทรม ลง ทรงประชวรด้วยโรคพระหทัย ทรงซื้อพระตำหนักใหม่ขนาดเล็กลงชื่อ “เวนคอร์ต” (Vane Court) 

เมื่ออังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๒ พระบาท สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักคอมพ์ตัน (Compton House) พระตำหนักขนาดเล็กที่สุดในบรรดาพระตำหนักต่างๆที่ประทับมาก่อน ด้วยสภาวะสงคราม ความ เป็นอยู่ยากลำบาก ขาดแคลนอาหาร ต้องระวังการโจมตีทางอากาศ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงย้ายที่ประทับชั่วคราวไปอยู่ที่พระตำหนักสแตดดอน (Staddon) นอร์ท เดวอน (North Devon) ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๔๘๓ พระสุขภาพพลานามัยของพระบาท สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรุดลง ต้องทรงย้ายกลับไปประทับ ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน (Compton House) อีกครั้ง จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ พระชนมายุ ๔๘ พรรษา ทรงดำรงสิริราชสมบัติ ๙ ปี

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »



ตำแหน่ง

Lek Thi 206 Soi 8 ตำบล เนินมะปราง อำเภอเนินมะปราง พิษณุโลก 65190 ประเทศไทย


คำอธิบายการค้นหา

Num ... 2627615 blogger Blog for save Make safe editor Sight seeing view blog ID ... Phasa Thai รายละเอียดคำศัพท์ ... 

☆ เซฟบล็อก! ☆