พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๓๑

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๓๑


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๓๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา พระนามเดิมคือเจ้าฟ้าพร เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระ สรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) กับพระอัครมเหสี พระเชษฐาคือเจ้าฟ้าเพชรซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จพระ สรรเพชญ์ที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ) เจ้าฟ้าพรประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๔ ใน พ.ศ. ๒๒๔๖ เมื่อ สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียก เจ้าฟ้าพรว่า พระบัณฑูรน้อย ในรัชกาลต่อมา สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าพระองค์นี้ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)

สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรทรงมีบทบาทสำคัญในการปฏิสังขรณ์และบูรณะ ศาสนสถานในกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นแม่กองกำกับการปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาวโดยเสด็จไปทอดพระเนตร หนึ่งหรือสองเดือนครั้งหนึ่ง เป็นเวลา ๓ ปีเศษการปฏิสังขรณ์จึงแล้วเสร็จ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๒๖๘ เจ้าอธิการวัดป่าโมกแจ้งแก่พระยาราชสงครามว่า พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกนั้นน้ำกัดเซาะตลิ่งพังเข้า มาถึงพระวิหารแล้ว อีกไม่นานพระพุทธไสยาสน์อาจจะพังลงน้ำเสีย พระยาราชสงครามจึงกราบ บังคมทูลสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ) พระองค์ทรงปรึกษาเหล่าเสนาบดีว่าควรจะรื้อ พระพุทธไสยาสน์ไปก่อใหม่ หรือควรจะชะลอไปไว้ที่ใหม่ พระยาราชสงครามได้ไปตรวจดูแล้วเห็นว่า อาจชะลอลากไปได้จึงกราบบังคมทูล แต่กรมพระราชวังบวรไม่ทรงเห็นด้วย ตรัสว่าพระพุทธไสยาสน์นั้น องค์ใหญ่โตนัก หากชะลอลากไปอาจจะหักพัง เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศได้ เห็นควรรื้อไปก่อใหม่ ให้งามยิ่งกว่าเก่า พระยาราชสงครามจึงทูลอาสาว่าจะดำเนินการชะลอลากให้สำเร็จโดยขอถวายชีวิต เป็นเดิมพัน พระราชาคณะทั้งปวงก็เห็นชอบด้วย สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ จึงโปรดให้พระยา ราชสงครามดำเนินการจนสำเร็จ โดยพระองค์และกรมพระราชวังบวรเสด็จไปทอดพระเนตรอยู่เนืองๆ กรมพระราชวังบวรได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกการชะลอพระพุทธไสยาสน์ครั้งนั้นไว้เป็นโคลงสี่สุภาพ จำนวน ๖๙ บท เรียกกันต่อมาว่าโคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก

สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวร เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ ๙ ครั้งหนึ่งทั้งสองพระองค์เสด็จประพาสป่าหัวเมืองนครนายก คืนหนึ่งขณะทรงช้างไล่ช้างป่าอยู่นั้น ช้างทรงสมเด็จพระอนุชาธิราชวิ่งไม่ทันยั้งโถมเข้าแทงท้ายช้างพระที่นั่งจนควาญท้ายตกจากหลังช้าง และช้างทรงก็เจ็บ สมเด็จพระอนุชาธิราชตกพระทัยกลัวพระราชอาญา รีบตามเสด็จไปเฝ้าและกราบ บังคมทูลว่าเป็นเวลาที่เมฆบดบังดวงจันทร์พอดี จึงทรงเห็นไม่ถนัด เมื่อกระชั้นก็ทรงรั้งช้างไว้ไม่ทัน สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ มิได้กริ้วพระราชอนุชาแต่อย่างใด ทรงพระกรุณาโปรดงดโทษให้

เมื่อสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ ประชวรใกล้สวรรคต ได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ได้รับราชสมบัติ สมเด็จพระอนุชาธิราชไม่ทรงยินยอม จึงเกิด สงครามกลางเมือง สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงเป็นฝ่ายชนะ จึงได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่ง ราชวงศ์บ้านพลูหลวงเป็นลำดับที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๕

ในแผ่นดินนี้มีเจ้าต่างเมืองมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารหลายองค์ เช่น เมื่อเจ้าเมืองหงสาวดีคิด กบฏต่อกรุงอังวะ เจ้าเมืองเมาะตะมะชื่อนักวารุตองเกรงว่าหงสาวดีจะยกมาตีเมืองเมาะตะมะด้วย จึง พาไพร่พลหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ฝ่ายเจ้ากรุงอังวะเมื่อรู้ว่ารามัญเมืองเมาะตะมะหนีกบฏมาอยู่ กรุงศรีอยุธยาอย่างมีความสุข ก็ส่งราชทูตเชิญราชบรรณาการมาเจริญพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ด้วยความขอบพระทัย ทางฝ่ายกัมพุชประเทศ เมื่อเจ้าเมืองทั้งสองคือนักพระรามาธิบดีกับนักพระศรี ไชยเชษฐ์สู้รบกับพวกญวนไม่ได้ ก็ได้พาไพร่พลหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกรุงศรีอยุธยา ในตอนต้น รัชกาล นักพระแก้วฟ้าแห่งกัมพูชาได้ส่งช้างพังเผือกช้างหนึ่งมาถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และยังมีหัวเมืองต่างๆ เช่น นครศรีธรรมราช ไชยา ส่งช้างพลายลักษณะพิเศษเข้ามาถวายด้วย ด้านการพระพุทธศาสนา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน หลายแห่ง เช่น พระมหาเจดีย์และพระอารามวัดภูเขาทอง และโปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินไป นมัสการพระพุทธบาทเป็นประจำทุกปี ทั้งยังได้โปรดให้อาราธนาพระราชาคณะพร้อมด้วยคณะสงฆ์ ไปยังลังกาทวีปเพื่อเผยแผ่และฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปตามคำทูลขอของพระเจ้ากิตติศิริราชสีห์ ผู้ครองกรุงสิงขัณฑนครแห่งลังกาทวีป ทำให้เกิดมีพระสงฆ์ในลังกานิกายสยามวงศ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ เคารพศรัทธาของชาวลังกาตราบเท่าทุกวันนี้

ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ศิลปะวรรณคดีเจริญรุ่งเรือง พระองค์ทรงเป็นกวีผู้ทรง พระราชนิพนธ์วรรณคดีไว้หลายเรื่อง นอกจากโคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก ซึ่งเป็นบันทึก เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าแล้ว ยังมีโคลงสุภาษิตอีก ๕ เรื่อง ซึ่งนักวิชาการวรรณคดี สันนิษฐานว่าเป็นพระราชนิพนธ์ ได้แก่ โคลงพาลีสอนน้อง โคลงราชสวัสดิ์ โคลงทศรถสอนพระราม โคลงประดิษฐ์พระร่วง และโคลงราชานุวัตร พระราชโอรสและพระราชธิดาก็ทรงพระราชนิพนธ์ วรรณคดีเป็นมรดกสืบทอดมา ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ หรือเจ้าฟ้า ธรรมธิเบศร หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ซึ่งเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรในตอนต้นรัชกาล ทรงพระนิพนธ์กาพย์ เห่เรือ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระมาลัยคำหลวง และ นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระราชธิดาทั้งสองคือเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลและเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎได้ทรงฟัง นิทานปันหยีของชวาที่นางข้าหลวงชาวมลายูเล่าถวาย เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทรงพระนิพนธ์บทละครเรื่อง ดาหลัง (อิเหนาใหญ่) และเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎทรงพระนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา (อิเหนาเล็ก) ซึ่งเป็น ที่มาของวรรณคดีเรื่องเอกในต้นรัตนโกสินทร์ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช ๒ เรื่อง คือ บทละครเรื่องดาหลังและอิเหนา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคตในปีขาล แรม ๕ ค่ำ เดือน ๖ จ.ศ. ๑๑๒๐ (พ.ศ. ๒๓๐๑) รวมเวลาที่อยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี พระชนมายุ ๗๘ พรรษา

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »



ตำแหน่ง

Lek Thi 206 Soi 8 ตำบล เนินมะปราง อำเภอเนินมะปราง พิษณุโลก 65190 ประเทศไทย


คำอธิบายการค้นหา

Num ... 2627615 blogger Blog for save Make safe editor Sight seeing view blog ID ... Phasa Thai รายละเอียดคำศัพท์ ... 

☆ เซฟบล็อก! ☆