พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๓๓

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๓๓


สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ หรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์มีพระนามตามพระสุพรรณบัฏ ว่าสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๓๓ หรือพระองค์สุดท้ายของ กรุงศรีอยุธยา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่กรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อยหรือพระอัครมเหสีน้อย) และเป็นพระเชษฐาร่วมพระราชชนกชนนีกับสมเด็จพระเจ้า อุทุมพร

พระนามสมเด็จพระเจ้าเอกทัศมาจากพระนามเดิมคือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเอกทัศ เมื่อ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๒๗๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตร

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทิวงคต ใน พ.ศ. ๒๒๙๘ จนถึง พ.ศ. ๒๓๐๐ กรมหมื่นเทพพิพิธพระเจ้าลูกเธอผู้ใหญ่ซึ่งกำเนิดแต่พระสนมได้ ปรึกษาเจ้าพระยาอภัยราชาผู้ว่าที่สมุหนายกและเจ้าพระยามหาเสนาพระยาพระคลัง กราบบังคมทูล พระกรุณาขอพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตขึ้นดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเห็นชอบ แม้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตจะทำเรื่องกราบบังคมทูลขอพระราชทานให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุน อนุรักษ์มนตรีพระเชษฐาร่วมพระอุทรเป็นกรมพระราชวังบวรฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกลับมี พระราชโองการดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า “กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้น โฉดเขลาหาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ถ้าจะให้ดำรงฐานาศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชการกึ่งหนึ่งนั้น บ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติฉิบหายเสีย” และมีพระราชดำรัสสั่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีว่า “จงไปบวชเสียอย่าให้กีดขวาง” สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีทรงกลัวพระราชอาญา จำพระทัย ทูลลาไปทรงผนวชแล้วเสด็จประทับ ณ วัดลมุดปากจั่น

เมื่อสมเด็จพระราชชนกทรงพระประชวรใกล้เสด็จสวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีก็ ทรงลาผนวช เสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักสวนกระต่าย เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จ สวรรคตแล้ว ได้ทรงให้คำปรึกษาสมเด็จพระอนุชาธิราชซึ่งทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถาน มงคลให้จับตัวเจ้าสามกรม คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดีซึ่งเป็น กบฏ และให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน

พระราชพงศาวดารบางฉบับ เช่น ฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกโดยตรงว่าเมื่อสมเด็จพระ อนุชาธิราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์ มนตรีทรงแสดงพระองค์ปรารถนาในราชสมบัติ เสด็จขึ้นอยู่แต่บนพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เป็นที่มา แห่งการที่พระราชพงศาวดารจารึกพระนามอีกพระนามหนึ่งว่า สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงยอมถวายราชสมบัติแล้วกราบถวายบังคมลาออกทรงพระผนวช

พระราชพงศาวดารบางฉบับ เช่น พระราชพงศาวดารกรุงสยามจากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกเพียงว่า เมื่อกำจัด เจ้าสามกรมแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ จะถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐาธิราช แต่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนอนุรักษ์มนตรีไม่ทรงรับ ไม่ทรงต้องการให้ผิดรับสั่งของสมเด็จพระราชชนก แต่เรื่องเสด็จอยู่ ณ พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์นั้นตรงกัน และที่สุดสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรก็ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระ เชษฐาธิราชหลังจากครองราชย์เพียง ๑๐ วัน แล้วถวายบังคมลาออกทรงพระผนวชประทับ ณ วัด ประดู่ พระราชพงศาวดารจึงบันทึกพระนามว่า ขุนหลวงหาวัด

เมื่อสมเด็จพระเจ้าเอกทัศเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธก็กราบถวายบังคมลาออก ทรงผนวชด้วย แต่ต่อมาเมื่อเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงยอมให้พระราชมนตรีบริรักษ์ (ปิ่น) จางวางมหาดเล็กและหมื่นศรีสรรักษ์พี่และน้องพระสนมเอกกระทำชั่วในพระราชวังและประมาทหมิ่น ขุนนางผู้ใหญ่ พระภิกษุกรมหมื่นเทพพิพิธก็ได้ร่วมกับเจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช พระยา เพชรบุรีหมื่นทิพเสนา กับนายจุ้ย นายแพงจัน เข้าเฝ้าขุนหลวงหาวัด ทูลปรึกษาจะกำจัดสมเด็จ พระเจ้าเอกทัศ และจะทูลเชิญขุนหลวงหาวัดให้ลาผนวชกลับมาครองราชย์ดังเดิม ขุนหลวงหาวัดมิได้ ปฏิเสธ แต่กลับเข้าเฝ้าสมเด็จพระเชษฐาธิราช ถวายพระพรแจ้งเหตุให้ทรงทราบ แต่ขอพระราชทาน ชีวิตคนเหล่านั้นไว้ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงมีพระราชโองการให้จับเหล่ากบฏมาเฆี่ยนและจองจำไว้ ส่วนกรมหมื่นเทพพิพิธนั้น ให้เนรเทศไปลังกาทวีปพร้อมเรือของสมณทูต

ในสมัยเดียวกันนี้ ทางประเทศพม่า ราชวงศ์อลองพญาตั้งตัวเป็นใหญ่ปราบปรามหัวเมืองพม่า มอญไว้ในอำนาจแล้ว ใน พ.ศ. ๒๓๐๓ ก็ยกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทางเมืองกุย ตีหัวเมืองเรื่อยมา จนถึงสุพรรณบุรี ขุนนางและประชาราษฎรชวนกันไปกราบทูลวิงวอนขุนหลวงหาวัด เชิญเสด็จ ลาผนวชมาช่วยราชการแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงลาผนวชออกมาช่วยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ บัญชาการรบป้องกันพระนคร จนพม่าต้องยกทัพกลับไปเพราะลูกปืนใหญ่แตกต้องพระวรกาย พระเจ้าอลองพญาขณะทรงบัญชาการจุดปืนใหญ่บาดเจ็บสาหัส และสิ้นพระชนม์ระหว่างถอยทัพถึง นอกด่านเมืองตาก

หลังสงคราม พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า ค่ำวันหนึ่งสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ มีพระราชโองการให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเข้าเฝ้าที่ข้างใน โดยทรงถอดพระแสงดาบพาดพระเพลา สมเด็จพระอนุชาธิราชก็ทรงเข้าพระทัยว่าทรงรังเกียจ จะทำร้าย มิให้อยู่ในฆราวาส จึงเสด็จออกทรงพระผนวชอีกครั้ง

พ.ศ. ๒๓๐๗ พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่าให้เกณฑ์ทัพใหญ่เข้าตีกรุงศรีอยุธยาทั้งจากทางเหนือ และทางใต้ ทัพหัวเมืองของไทยไม่อาจรับทัพพม่า มีเพียงชาวบ้านบางระจันที่สามารถรับศึกพม่าได้ ถึง ๗ ครั้ง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้เพราะกรุงไม่ยอมส่งอาวุธไปช่วย ฝ่ายข้าราชการในกรุงก็แตกสามัคคีจน ไม่อาจรบชนะพม่าได้

เมื่อพม่าใกล้ถึงพระนคร สมเด็จพระเจ้าเอกทัศโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์พระราชาคณะที่อยู่วัด นอกเมืองเข้ามาอยู่ในพระนคร ซึ่งขุนหลวงหาวัดหรือขุนหลวงวัดประดู่ก็เสด็จเข้ามาประทับที่วัด ราชประดิษฐาน ขุนนางและราษฎรพากันกราบทูลวิงวอน รวมทั้งเขียนหนังสือห่อใส่บาตรขณะทรง บิณฑบาตให้ลาผนวช แต่ก็ไม่ทรงลาผนวชอีก

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก พม่าเข้ากรุงได้ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศเสด็จหนี พระราชพงศาวดารบาง ฉบับว่าเสด็จไปโดยลำพังพระองค์เดียว แต่บางฉบับว่าลงเรือน้อยไปกับมหาดเล็กสองคน ได้รับความ ทุกข์ลำบากจนเสด็จสวรรคต พระราชพงศาวดารบางฉบับว่า ชนทั้งปวงนำพระศพมาฝังไว้ แต่ บางฉบับก็ว่าพวกพม่าไปพบสมเด็จพระเจ้าเอกทัศที่บ้านจิก (ข้างวัดสังฆาวาส) ทรงอดอาหารกว่า ๑๐ วัน พอถึงค่ายโพธิ์สามต้นก็สวรรคต สุกี้พระนายกองให้เชิญพระศพฝังไว้ที่โคกพระเมรุตรงหน้า วิหารพระมงคลบพิตร อันเป็นที่ทำพระเมรุท้องสนามหลวงครั้งกรุงเก่า รอเมื่อว่างราชการจะถวาย พระเพลิง แต่หลังจากนั้นอีกเพียง ๗ เดือน เจ้าตากหรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้กลับมา ตีค่ายโพธิ์สามต้นได้ และให้ขุดพระศพพระเจ้าแผ่นดินซึ่งพระนายกองฝังไว้นั้น อัญเชิญใส่พระโกศตาม สังเขป ทำพระเมรุหุ้มด้วยผ้าขาว แล้วเชิญพระโกศตั้งในพระเมรุตั้งเครื่องบูชาสักการะพอสมควร ให้ นิมนต์พระสงฆ์ที่เหลืออยู่มาสดับปกรณ์ ทรงถวายไทยทาน แล้วถวายพระเพลิง

สมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่บำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านทะนุบำรุง พระพุทธศาสนาเป็นนิจ ในเอกสารเก่าที่รวมไว้ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจาก หอหลวงว่าทรงสร้างวัดลมุด วัดครุธธา ทรงตั้งอยู่ในธรรมสุจริต เสด็จไปนมัสการพระศรีสรรเพชญ์ ทุกเวลามิได้ขาด พระบาทจงกรมอยู่เป็นนิจ ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ในรัชสมัยนี้พระราชพงศาวดารได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาคือ กำปั่นทูตที่ออกไปส่งพระสงฆ์ไปอุปสมบท กุลบุตรสืบพระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีปตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้กลับเข้ามา จึงทรง พระกรุณาให้แต่งกำปั่นใหม่ใน พ.ศ. ๒๓๐๑ ให้อาราธนาพระวิสุทธาจารย์พระวรญาณมุนีพระราชา คณะ ๒ รูป พระสงฆ์อันดับ ๓ รูป ไปลังกาทวีปกับข้าหลวง เพื่อออกไปผลัดพระสงฆ์ซึ่งไปครั้งก่อน ให้กลับมา ที่ลังกาพระอุบาล พระอริยมุนี และพระสงฆ์ที่ออกไปครั้งก่อนได้บวชกุลบุตรชาวสิงหลเป็น ภิกษุถึงเจ็ดร้อยเศษ สามเณรพันคน พระสงฆ์ที่ออกไปครั้งหลังบวชชาวสิงหลเป็นภิกษุอีกสามร้อย สามเณรก็มาก อยู่ได้ปีเศษ พระภิกษุไทยก็เดินทางกลับ คงแต่พระอุบาลีและพระสงฆ์อันดับอยู่บ้าง

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »