พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๑

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๑


สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระนามเมื่อครองราชย์ตาม พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ และมีพระนามที่ราษฎรเรียก เมื่อล่วงรัชกาลแล้วว่า ขุนหลวงตาก ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของกรุงธนบุรี

พระราชประวัติเมื่อทรงพระเยาว์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นนิทานเชิงอภินิหาร เพราะบันทึกไว้ในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ซึ่งพอสรุปเฉพาะส่วนสำคัญของพระราชประวัติว่า เสด็จ พระราชสมภพใน พ.ศ. ๒๒๗๗ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา บิดาชื่อ ไหยฮอง มารดาชื่อนางนกเอี้ยง บิดาเป็นขุนพัฒน์นายอากรบ่อนเบี้ย เจ้าพระยาจักรีสมุหนายก รับเลี้ยงในฐานะบุตรบุญธรรม ให้ชื่อว่า สิน ครั้นเติบใหญ่ศึกษาเล่าเรียนในสำนักพระอาจารย์ทองดี มหาเถระ ณ วัดโกษาวาสน์ จากนั้นได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ได้รับยศเป็นหลวงยกกระบัตร แล้วได้ เลื่อนเป็นพระยาตาก

พระราชประวัติช่วงนี้ได้มีผู้ศึกษาวิเคราะห์กันมาก วันพระราชสมภพนั้นหากยึดจดหมายเหตุ โหรว่าเสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมพรรษาได้ ๔๘ พรรษา ๑๕ วัน และหากเป็นวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จพระราชสมภพวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๗ เรื่อง พระชาติภูมิสรุปได้ว่าทรงเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน บิดามาจากมณฑลกวางตุ้ง มารดาเป็นคนไทย และ จากเอกสารราชวงศ์ชิงและเอกสารภาคเอกชนจีนกล่าวถึงพระนามว่า “เจิ้งเจา” ซึ่งแปลว่า กษัตริย์ แซ่เจิ้ง (ตรงกับเสียงจีนแต้จิ๋วว่า “แต้”) และพระนามเดิมคือ สิน

พระราชพงศาวดารได้บันทึกถึงตอนที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท สมเด็จพระอนุชา ธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชครั้งยังทรงเป็นนายสุจินดามหาดเล็กหนีพม่า ไปพึ่งเจ้าตาก ณ เมืองจันทบุรี เจ้าตากก็รับชุบเลี้ยงไว้ตั้งเป็นพระมหามนตรี เพราะรู้จักคุ้นเคยกัน แต่ก่อนกรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่พม่า และการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชนิพนธ์ รามเกียรติ์ ก็แสดงว่าทรงได้รับการศึกษาและทรงรอบรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย อย่างไรก็ตาม ยังมีพระราชพงศาวดารฉบับย่อยๆ ที่บันทึกเชื้อสายสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราชแตกต่างกันออกไป เช่น พระราชพงศาวดารเหนือเลขที่ ๔๗ กล่าวว่า พระยานักเลงมีเชื้อสาย พระเจ้ามักกะโท ทรงพระนามพระยาตาก ตั้งเมืองใหม่ที่ธนบุรี และสมุดไทยดำฉบับหมายเลข ๒/ไฆ กล่าวว่า เดิมชื่อจีนแจ้ง เป็นพ่อค้าเกวียนก่อนที่จะมีความชอบในแผ่นดินจนได้เป็นผู้สำเร็จราชการ แผ่นดินอยู่ ณ เมืองตาก ซึ่งก็ตรงกับที่พระราชพงศาวดารฉบับความพิสดาร เช่น ฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกเรื่องหนังสือพุทธทำนายของมหาโสภิตอธิการวัดใหม่ว่า เมื่อพระนครเสียแก่พม่าแล้วจะมีบุรุษพ่อค้าเกวียนได้เป็นพระยาครองเมืองบางกอกได้ ๑๐ ปี ต้องเสียเมืองแก่พม่าให้เสด็จไปอยู่ เมืองลพบุรีซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้เสด็จไปประทับเมืองลพบุรี ๗ วันพอเป็นเหตุ อาจ เพราะทรงเป็นพ่อค้าเกวียนจึงทรงชำนาญภูมิประเทศ และทรงเชี่ยวชาญรับสั่งได้หลายภาษาทั้งจีน ลาว และญวน

พระราชพงศาวดารฉบับความพิสดารเริ่มบันทึกเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๘ สมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ตั้งแต่ยังทรงเป็นพระยาตากมาช่วยราชการสงครามป้องกันพม่า ซึ่งยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา พระยาตากมีฝีมือการรบเข้มแข็งจึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยา วชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ระหว่างทำศึกรักษาพระนคร แม้จะพยายามบัญชาการรบและต่อสู้ ข้าศึกจนสุดความสามารถ แต่ด้วยความอ่อนแอของผู้บัญชาการและการขาดการประสานงานที่ดี ระหว่างแม่ทัพนายกอง ทำให้พระยาวชิรปราการเกิดความท้อแท้ใจหลายครั้ง เมื่อเห็นว่าถึงจะอยู่ช่วย รักษากรุงก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด พระยาวชิรปราการจึงตัดสินใจพาสมัครพรรคพวกประมาณ ๕๐๐ คน พระราชพงศาวดารบางฉบับว่าประมาณ ๑,๐๐๐ คน ยกออกจากค่ายวัดพิชัยตีฝ่าทัพพม่าไปทางทิศ ตะวันออกในเดือนยี่ พ.ศ. ๒๓๐๙

พระยาวชิรปราการนำพรรคพวกสู้รบชนะพม่าที่ไล่ติดตามไปตลอดทาง จนกิตติศัพท์ความ สามารถเป็นที่เลื่องลือ ทำให้มีผู้คนมาขอเข้าเป็นบริวารมากมาย ที่ไม่ยอมอ่อนน้อมก็จำต้องตีหักเอา ค่ายได้ เส้นทางการเดินทัพออกจากค่ายวัดพิชัยนอกกำแพงเมืองไปบ้านข้าวเม่า บ้านสัมบัณฑิต บ้าน โพสังหาร บ้านพรานนก ผ่านเมืองนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ครั้นถึงเมืองระยอง พระยากำแพงเพชรคาดการณ์ว่าคงเสียกรุงแล้วจึงตั้งตัวเป็นเจ้าเพื่อรวบรวมผู้คนกู้แผ่นดิน พวกบริวาร จึงเรียกว่าเจ้าตากแต่นั้นมา ขณะนั้นทางกรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่พม่า เจ้าตากจึงระวังตัวมิให้คน ทั้งหลายเห็นว่าเป็นกบฏ และให้เรียกคำสั่งเพียงพระประศาสน์อย่างเจ้าเมืองเอก พระระยองพา พรรคพวกออกมาต้อนรับแต่โดยดี แต่ก็ยังมีกรมการเมืองบางส่วนคิดแข็งข้อ พระยาวชิรปราการรู้ จึงวางแผนปราบผู้คิดร้ายแตกพ่ายไป และเข้ายึดเมืองระยองเป็นสิทธิ์ขาด

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ ผู้มีอำนาจบางคนคิดตั้งตัวเป็น ใหญ่ พระยาจันทบุรีซึ่งเดิมเคยสัญญาว่าจะเป็นไมตรีกับเจ้าตากก็ไม่ทำตามสัญญา เจ้าตากจึงยกทัพไป ปราบ เข้ายึดได้จันทบุรีและตราดตามลำดับ หลังจากยึดเมืองตราดได้แล้ว เจ้าตากก็ยกทัพกลับมาตั้งมั่น ที่จันทบุรีและใช้เป็นที่จัดเตรียมกำลังพล เสบียงอาหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งต่อเรือได้๑๐๐ ลำ หลังจากสิ้นฤดูมรสุมเจ้าตากก็ยกทัพออกจากจันทบุรีเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาในเดือน ๑๒ ปี เดียวกัน เมื่อยึดเมืองธนบุรีได้แล้วจึงบุกเข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นที่พระนครศรีอยุธยา และสามารถยึด ค่ายโพธิ์สามต้นได้ใน ๒ วัน ขับไล่พม่าออกไปจากพระนครศรีอยุธยา รวมเวลาที่ไทยสูญเสียเอกราชแก่ พม่าคราวนั้นเพียง ๗ เดือน เจ้าตากได้จัดการบ้านเมืองให้อยู่ในสภาพปกติ จัดหาที่ประทับให้แก่ บรรดาเจ้านายที่ถูกพม่าคุมตัวไว้แต่ยังไม่ทันส่งไปพม่า จัดการปลดปล่อยผู้คนที่ถูกกักขัง พร้อมทั้ง แจกจ่ายทรัพย์สินเครื่องอุปโภคบริโภคโดยถ้วนหน้า แล้วให้จัดการพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พอสมพระเกียรติเท่าที่จะทำได้ในขณะนั้น จากนั้นก็อพยพผู้คนมาตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองธนบุรี ซึ่งใน เวลานั้นนับว่ามีชัยภูมิเหมาะสมกว่ากรุงศรีอยุธยา เมื่อย้ายมาประทับที่กรุงธนบุรีแล้ว เจ้าตากทำพิธี ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าเมื่อใด ทางราชการจึงกำหนดเอา วันแรกสุดที่เสด็จออกขุนนาง ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุโหรเป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษก คือวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑

ภายหลังปราบดาภิเษกแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงดำเนินการสร้างชาติให้เป็นปึก แผ่นมั่นคงทันที โดยนอกจากจะทรงทำสงครามขับไล่พม่ากว่า ๑๐ ครั้งแล้ว ยังทรงปราบปรามบรรดา คนไทยที่แยกตัวไปตั้งเป็นชุมนุมต่างๆ มีชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) ชุมนุมเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) และชุมนุมเจ้าพิมาย หรือกรมหมื่นเทพพิพิธพระราชโอรสใน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กระทั่งถึง พ.ศ. ๒๓๑๓ จึงสามารถมีชัยเหนือชุมนุมต่างๆได้ทั้งหมด ส่งผลให้ชาติไทยกลับมารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้ง หลังศึกอะแซหวุ่นกี้ใน พ.ศ. ๒๓๑๘ แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงดำเนินการขยายพระราชอาณาเขตของกรุงธนบุรีออกไปอีกจนกว้างใหญ่ ไพศาล ทิศเหนือได้ถึงเมืองเชียงใหม่ ทิศใต้ตลอดหัวเมืองตานี (ปัตตานี) ทิศตะวันออกตลอดกัมพูชา จำปาศักดิ์จดญวนใต้ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือตลอดเวียงจันทน์ หัวเมืองพวน และนครหลวงพระบาง ทิศตะวันตกจดเมืองมะริดและตะนาวศรี ออกมหาสมุทรอินเดีย

ส่วนการฟื้นฟูประเทศนั้น แม้ว่าตลอดรัชสมัยจะเต็มไปด้วยการศึกสงคราม สมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราชยังเอาพระทัยใส่ดูแลโดยใกล้ชิด ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองทั้งในด้านการเมือง การ ปกครอง เศรษฐกิจ สังคม เช่น โปรดให้ชำระกฎหมาย โปรดให้พิจารณาตัดสินคดีความต่างๆตามปกติ ไม่ให้คั่งค้างแม้ในยามสงคราม โปรดให้ส่งสำเภาหลวงไปค้าขายถึงเมืองจีนตลอดถึงอินเดียตอนใต้ โปรดให้ขุดคูคลองเพื่อประโยชน์ด้านการค้าขายและด้านยุทธศาสตร์ไปพร้อมกัน โปรดให้ขยายพื้นที่ให้ ทหารควบคุมไพร่พลทำนา นอกจากนี้ ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์บางตอน ทั้งยัง โปรดให้การอุปถัมภ์เหล่ากวี ให้รวบรวมบรรดาช่างฝีมือและให้ฝึกสอนทุกแผนกเท่าที่มีครูสอน โปรด ให้บำรุงการศึกษาตามวัดวาอารามต่างๆ ให้ตั้งหอหนังสือหลวงรวบรวมตำราต่างๆที่กระจัดกระจาย เมื่อคราวเสียกรุง โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามใหม่ และให้คัดลอกพระไตรปิฎกที่ยังหลงเหลือจาก เมืองนครศรีธรรมราชสร้างเป็นฉบับหลวง และโปรดให้เขียนสมุดภาพไตรภูมิในสำนักสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น การฟื้นฟูบ้านเมืองเกือบทุกด้านนี้ได้รับการสืบสานสร้างเสริมจนสำเร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นล่วงถึงปลายรัชกาล สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชใฝ่พระราชหฤทัยในทางศาสนาทำให้ สำคัญพระองค์ว่าบรรลุโสดาบัน เกิดความวุ่นวายทั้งแผ่นดิน ผู้คนถูกลงโทษโดยปราศจากความผิดมี เพิ่มขึ้นทุกวัน ชาวกรุงเก่าบางพวกจึงรวมตัวกันก่อการกบฏ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้พระยาสรรค์ (สรรคบุรี) ขึ้นไปปราบกบฏ แต่พระยาสรรค์กลับเข้ากับพวกกบฏยกทัพมาตีกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรับผิดและยอมเสด็จออกผนวช ณ วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) ในระหว่างนั้นกรุงธนบุรีเกิดความวุ่นวายฆ่าฟันกันไม่เว้นแต่ละวัน เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกรมขุน อนุรักษ์สงคราม (พระเจ้าหลานเธอในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) เป็นฝ่ายพระยาสรรค์ กับพระยา สุริยอภัย (สมเด็จพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ซึ่งนำทัพเมือง นครราชสีมามาปราบกบฏ พระยาสุริยอภัยเป็นฝ่ายมีชัยในที่สุด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช ครั้งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งกำลังยกทัพไปตีเขมรทราบข่าวการจลาจลจาก พระยาสุริยอภัย ก็เลิกทัพกลับถึงกรุงธนบุรี หลังจากไต่สวนจนทราบเหตุการณ์ทั้งปวงแล้ว ให้บรรดา ข้าราชการพิจารณาปรึกษาโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสำเร็จโทษเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่แก่ ปวงชนชาวไทย ทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ ๒๘ ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช และให้มีรัฐพิธีถวายสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่ กรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ สืบมาทุกปี และเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ คณะรัฐมนตรีมีมติให้เทิดพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »