พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๑๕

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๑๕


สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๕ แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็น พระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ และเป็นพระอนุชาต่างพระชนนีของสมเด็จพระไชย ราชาธิราช เสด็จขึ้นครองราชย์พ.ศ. ๒๐๙๑ มีพระนามเดิมก่อนขึ้นเสวยราชย์ว่าพระเฑียรราชา

เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาใน พ.ศ. ๒๐๘๙ แล้ว พระเฑียรราชาทรงหลีกราชภัยด้วย การเสด็จออกผนวช ดังความในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า 

ครั้นถวายพระเพลิงพระไชยราชาเสร็จแล้ว ฝ่ายพระเฑียรราชาซึ่งเป็นพระวงศ์ สมเด็จพระไชยราชานั้นจึงดำริว่า ครั้นกูจะอยู่ในฆราวาส บัดนี้เห็นภัยจะยังเกิดมีเป็นมั่นคง ไม่เห็นสิ่งใดที่จะเป็นที่พึ่งได้เห็นแต่พระพุทธศาสนาและผ้ากาสาวพัตร์ อันเป็นธงชัยแห่ง พระอรหันต์จะเป็นที่พำนักพ้นภัยอุปัทวันตราย ครั้นดำริแล้วก็ออกไปอุปสมบทเป็นภิกษุภาวะ อยู่ ณ (วัด) ราชประดิษฐาน

แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาธิราชจึงมีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง โดยตั้งขุน วรวงศาธิราชเป็นกษัตริย์ ต่อมาขุนพิเรนทรเทพและเหล่าขุนนางร่วมกันกำจัดขุนวรวงศาธิราชและ แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์แล้วอัญเชิญพระเฑียรราชาให้ลาผนวชและขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ ทรง พระนามว่าพระมหาจักรพรรดิ ได้ทรงสถาปนาให้ขุนพิเรนทรเทพเป็นพระมหาธรรมราชาครองเมือง พิษณุโลก และพระราชทานพระธิดาคือพระวิสุทธิกษัตรีย์ให้เป็นมเหสีนอกจากนั้นยังทรงสถาปนา ขุนนางที่มีส่วนช่วยเหลือในการขึ้นครองราชย์ให้มีตำแหน่งต่างกันไป

ต่อมาเกิดกบฏขึ้นภายในพระราชอาณาจักรคือกบฏพระศรีสิน (ศรีศิลป์) พระศรีสินผู้นี้ พงศาวดารระบุว่าเป็นพระราชโอรสองค์รองในสมเด็จพระไชยราชาธิราช เมื่อขุนพิเรนทรเทพสถาปนา สมเด็จพระเฑียรราชาขึ้นเสวยราชย์นั้นพระองค์โปรดให้เลี้ยงพระศรีสินไว้และเมื่อพระศรีสิน “อายุได้ ๑๓ ปี ๑๔ ปี จึงออกบวชเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดราชประดิษฐาน” ต่อมาใน พ.ศ. ๒๑๐๔ พระศรีสิน เป็นกบฏ พงศาวดารระบุว่าครั้งนั้นขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งต้องราชอาญาได้เข้าร่วมด้วยฝ่ายกบฏหลายคน อาทิพระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ พระพิชัยรณฤทธิ์และหมื่นภักดีสรรค์ ที่สำคัญคือในคราว กบฏครั้งนั้น พระศรีสินยังได้พระสังฆราชวัดป่าแก้วให้ฤกษ์ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชวัดป่าแก้วนี้มีศักดิ์ เป็นถึงเจ้าคณะฝ่ายขวา ที่ตำแหน่งสมเด็จพระวันรัตน์ เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระ มหาจักรพรรดิมิได้เป็นที่ยอมรับนับถือในหมู่ขุนนางผู้ใหญ่ตลอดรวมถึงพระราชาคณะบางองค์ยังมี หลักฐานปรากฏเพิ่มเติมว่าหลังเหตุการณ์กบฏพระศรีสินแล้ว “เมียน้อยขุนนางโจทย์ว่า ผัวเข้าด้วย พระศรีสิน ถามเป็นสัตย์ ตรัสให้ฆ่าเสียเป็นอันมาก”

นอกจากสงครามภายในแล้ว ประวัติศาสตร์อยุธยายังบันทึกสงครามอีกหลายครั้งในรัชกาลของ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโดยเฉพาะสงครามที่ทำกับละแวกและกับหงสาวดี การรบกับละแวกนั้น เป็นการตอบโต้พระเจ้ากรุงละแวกที่ฉวยโอกาสคราวที่กรุงศรีอยุธยาติดศึกกับพระเจ้าตะเบงชะเวตี้แห่ง กรุงหงสาวดีใน พ.ศ. ๒๐๙๑ ยกกำลังมากวาดต้อนครัวอพยพชาวปราจีนบุรีไปเมืองละแวก พงศาวดาร เขมรฉบับปลีกได้ลำดับความว่า

ครั้นเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพัติเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้ากรุงสยาม ณ กรุงเทพทวาราวดีศรีอายุทธยา จุลศักราช ๙๐๐ เศษ เป็นคริสต์ศักราช ๑ เศษ เป็นศึกกับ มอรหงษาเขมรยกเข้ามารบกระนาบจนถึงเมืองประทิว คือ ตำบลบางนา บางพระขนง ใน แม่น้ำเจ้าพระยานี้แต่หาได้ขึ้นไปถึงกรุงศรีอายุทธยาเก่าไม่

เมื่อเสร็จศึกพม่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงโปรดให้แต่งทัพใหญ่ไปตีเขมรเป็นการตอบแทน ใน พ.ศ. ๒๐๙๙ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ระบุว่า โปรดให้พระยาองค์ สวรรคโลกซึ่งเป็นเจ้านายเขมรที่มาพำนักอยู่ในราชอาณาจักรอยุธยาได้กินเมืองสวรรคโลกอยู่ยกไปเป็น ทัพหลวง แต่การรบครั้งนั้นอยุธยายกไปทั้งทัพบกและทัพเรือ ปรากฏว่าทัพเรือยกไปไม่ทันทัพบก เป็น เหตุให้เสียทัพและ “เสียพระญาองคสวรรคโลก นายกองและช้างม้ารี้พลมาก” เหตุการณ์เดียวกันนี้มี ปรากฏในพงศาวดารเขมร จ.ศ. ๑๒๑๗ และพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับพระองค์นพรัตน์ซึ่ง ระบุว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโปรดให้เจ้าพระยาโองซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระเจ้าจันทราชา (คือพระยา ละแวกขณะนั้น) และก็น่าจะเป็นบุคคลเดียวกับพระยาองค์สวรรคโลกในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ยกทัพไทยมาด้วยไพร่พล ๙๐,๐๐๐ ข้างพระจันทราชาเสด็จออกรับศึก ที่เมืองโพธิสัตว์จนได้รับชัยชนะเจ้าพระยาโองราชาสุรคตในศึกครั้งนั้น 

ส่วนการสงครามกับพม่าในช่วงรัชกาลของพระมหาจักรพรรดิมีด้วยกันทั้งสิ้น ๓ ครั้ง ครั้งแรก ได้แก่ศึกตะเบงชะเวตี้ใน พ.ศ. ๒๐๙๑ ส่วนอีกสองครั้งเป็นคราวศึกพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองใน พ.ศ. ๒๑๐๖ และ พ.ศ. ๒๑๑๒ ทัพพม่าที่ยกเข้ามาทำศึกในสมัยนี้เป็นทัพขนาดใหญ่ มีจำนวนไพร่พล เรือนแสน รวมแล้วมากกว่ากำลังข้างอยุธยา อีกทั้งทัพพม่ายังประกอบด้วยกองกำลังที่มีองค์ประกอบ ของกำลังพลที่หลากหลาย ทั้งยังมีทหารรับจ้างโปรตุเกสและอาวุธปืนไฟที่ทันสมัยมาใช้ในการรบ

สงครามครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นบริเวณรอบเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา และเป็นการสูญเสียวีรสตรีพระองค์สำคัญ กองทัพอยุธยาต้องตั้งรับทัพพม่าที่ เคลื่อนพลเข้ามาประชิดพระนครมากกว่าครั้งใดๆในประวัติศาสตร์ไทย หลักฐานในพระราชพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยาระบุว่า กองทัพของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้นั้นประกอบด้วย “พล ๓๐ หมื่น ช้างเครื่อง ๗๐๐ ม้า ๓๐,๐๐๐” ส่วนพงศาวดารพม่าระบุจำนวนไพร่พลของพม่าต่างออกไปประมาณได้ว่า ไพร่พลและม้าช้างซึ่งรวมกำลังทั้งทัพหน้า ทัพหลวง และทัพหลังแล้วจะนับไพร่รวมได้๑๒๐,๐๐๐ ม้า ๑๖,๘๐๐ และช้าง ๔๘๐ เชือก

สงครามใน พ.ศ. ๒๐๙๑ เป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับประวัติศาสตร์สงครามของอยุธยา เพราะ อยุธยาต้องเผชิญกับคู่ต่อสู้ซึ่งมีศักยภาพทางทหารที่ไม่ได้ต่ำไปกว่าอยุธยาแต่อย่างใด สมเด็จพระ มหาจักรพรรดิทรงเป็นผู้จัดระบบยุทธศาสตร์การรับศึกพม่า โดยใช้ตัวพระนครเป็นฐานรับศึกมา ตั้งแต่คราวสงครามตะเบงชะเวตี้พ.ศ. ๒๐๙๑ ยุทธศาสตร์นี้มุ่งใช้ปัจจัยด้านสภาพที่ตั้งหรือยุทธภูมิที่ ได้เปรียบของพระนครหลวงรับศึกที่มีกำลังเหนือกว่า ทั้งนี้ดังที่ทราบกันดีว่ากรุงศรีอยุธยานั้นแกร่งด้วย ปราการธรรมชาติคือมีแม่น้ำล้อมรอบเป็นคูพระนครอยู่ทุกทิศ นอกจากนี้กรุงศรีอยุธยายังมีปราการ ประดิษฐ์คือกำแพงล้อมรอบ ซึ่งในคราวสงคราม พ.ศ. ๒๐๙๑ นั้นน่าจะเป็นเพียงกำแพงที่พูนดินปักไม้ ระเนียด ที่สำคัญคืออยุธยายังมีข้อได้เปรียบด้านฤดูกาล เพราะในเดือน ๑๒ น้ำเหนือจะหลากลงท่วม ทุ่ง เป็นเหตุให้พม่าต้องถอนทัพ พม่าจึงมีเวลาจำกัดในการตี ยุทธวิธีที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิและ นักการทหารในยุคของพระองค์ใช้รับศึกพม่าคือการสร้างค่ายขึ้นป้องกันพระนครในทุกด้านเพื่อป้องกัน ไม่ให้พม่าเข้ามาตั้งค่ายประชิดคูเมืองและก่อหอรบยิงปืนโทรมพระนคร ยุทธวิธีนี้เป็นการรักษาเมือง ไม่ให้บอบช้ำจากการโจมตีของข้าศึก พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

ตรัสให้พระยาจักรีออกไปตั้งค่ายลุมพลีพล ๑๕,๐๐๐ ล้วนใส่เสื้อแดงหมวกแดง ฝ่าย มหานาคบวชอยู่วัดภูเขาทอง สึกออกตั้งค่ายกันทัพเรือ ตั้งค่ายแต่วัดภูเขาทองลงมาจนมา วัดป่าพลูพรรคพวกสมกำลังญาติโยมทาสชายทาสหญิงของมหานาค ช่วยกันขุดคูนอกค่าย กันทัพเรือ จึงเรียกว่า คลองมหานาค เจ้าพระยามหาเสนาถือพล ๑๐,๐๐๐ ออกตั้งค่ายบ้าน ดอกไม้ป้อมท้องนาหันตรา พลใส่เสื้อเขียวหมวกเขียว พระยาพระคลังถือพล ๑๐,๐๐๐ ตั้ง ป้อมท้ายคูพลให้ใส่เสื้อเหลืองหมวกเหลือง พระสุนทรสงครามถือพล ๑๐,๐๐๐ ตั้งค่ายป้อม จำปาพลใส่เสื้อดำหมวกดำ และบรรดาปราการพระนครนั้น ก็ตกแต่งป้องกันเป็นสามารถ

กล่าวโดยสรุปคือศึกครั้งนั้นพระมหาจักรพรรดิทรงมุ่งใช้พระนครเป็นฐานรับศึก ปล่อยให้พม่า เข้ามาตั้งทัพได้ถึงชานพระนคร และภายหลังเมื่อพม่าถอยทัพ จึงค่อยแต่งทัพออกตามตี 

ในสงคราม พ.ศ. ๒๐๙๑ หลักฐานในพงศาวดารชั้นหลังได้กล่าวถึงการอันพระอัครราชมเหสี ออกพระนามพระสุริโยทัย ได้ออกรบกันพระสวามีจนสิ้นพระชนม์ แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ซึ่งชำระในสมัยอยุธยาระบุแต่เพียงว่า

ครั้นเสวยราชสมบัติได้ ๗ เดือน พระยาหงษาปังเสวกียกพลมายังพระนคร ศรีอยุธยาในเดือน ๔ นั้น เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เจ้า เสด็จออกไปรบศึกหงษานั้น สมเด็จพระองคมเหษีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีเสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จ ด้วย และเมื่อได้รบศึกหงษานั้นทัพหน้าแตกมาปะทะทัพหลวงเป็นโกลาหลใหญ่ และสมเด็จ พระองคมเหษีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วยข้าศึกเถิงสิ้นชนม์กับ คอช้างนั้น

เป็นไปได้ว่าในสงครามครั้งนั้นข้างฝ่ายพระมหาจักรพรรดิคงจะทรงเสียเจ้าราชนิกุลฝ่ายหญิง รวมถึงสมเด็จพระอัครมเหสีจริง การสูญเสียครั้งนั้นจึงเป็นที่จดจำเล่าขานสืบมาจนสมัยปลายอยุธยา แต่ข้อเท็จจริงที่จดจำและบันทึกต่อกันมาผิดแผกไปจากความในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ อักษรนิติ์ดังเห็นได้ในคำให้การชาวกรุงเก่า อย่างไรก็ดีเหตุการณ์เดียวกันนี้ไม่ได้มีระบุไว้ในหลักฐาน ตะวันตกและหลักฐานข้างพม่า

ภายหลังศึกตะเบงชะเวตี้ใน พ.ศ. ๒๐๙๑ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงจัดการป้องกัน พระนครให้แข็งแรงกว่าก่อน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงประมวล ว่า ทรงสร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่ให้เป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน เพื่อให้พร้อมป้องกันอาวุธปืนใหญ่ ซึ่งพม่า นำเข้ามาใช้ควบคู่กับทหารอาสาต่างชาติโดยเฉพาะทหารอาสาโปรตุเกส นอกจากนี้ยังทรงให้รื้อ กำแพงเมืองสุพรรณบุรีด้านตะวันตก เมืองลพบุรีด้านเหนือ และเมืองนครนายกด้านตะวันออก เพื่อ ไม่ให้ข้าศึกเข้ายึดไปใช้เป็นประโยชน์ ทั้งยังโปรด “ให้ตั้งพิจารณาเลขสมสังกัดพรรค์ได้ฉกรรจ์ลำเครื่อง แสนเศษ” ซึ่งก็คือให้สำรวจราษฎรทำบัญชีสำมะโนครัวใหม่ ให้รู้ว่ามีชายฉกรรจ์สำหรับจะรบพุ่งข้าศึก ได้สักเท่าใด ทั้งยังทรงให้ตั้งหัวเมืองใหม่ มีเมืองนนทบุรีเมืองสาครบุรีและเมืองนครชัยศรีใน ปริมณฑลรายรอบพระนครอันจะสะดวกแก่การเรียกหาผู้คนเวลาเกิดศึกสงคราม ในด้านทัพเรือได้ โปรดให้แปลงเรือแซเป็นเรือไชย และเรือศีรษะสัตว์ต่างๆ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรง ให้อรรถาธิบายว่า เรือแซนั้นเป็นเรือยาวตีกรรเชียงสำหรับใช้บรรทุกของกับคนไปด้วยกันย่อมเดินช้า จึง ให้แก้เป็นเรือไชย คือแก้เป็นอย่างเรือดั้งที่ใช้ในกระบวนเสด็จสำหรับบรรทุกทหารปืนเล็กเป็นพลพาย สามารถไปรบพุ่งได้รวดเร็ว นอกจากนี้ยังเสด็จไปจับช้างหลายครั้ง คือในปีพ.ศ. ๒๐๙๓ พ.ศ. ๒๐๙๗ พ.ศ. ๒๑๐๐ พ.ศ. ๒๑๐๒ และ พ.ศ. ๒๑๐๕ เพื่อเป็นการหาพาหนะเพิ่มเติมมาไว้ใช้ในการศึกสงคราม

นอกเหนือจากการจัดการป้องกันพระนครตามกล่าวข้างต้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยังทรงมี สันถวไมตรีกับล้านช้าง หรือสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ซึ่งทรงกำลังเผชิญปัญหาเดียวกับกรุงศรีอยุธยา คือถูกหงสาวดีคุกคาม มีหลักฐานปรากฏในคำจารึกที่พระเจดีย์ศรีสองรักษ์เมืองด่านซ้าย จังหวัดเลย ว่าด้วยพระมหาจักรพรรดิกับพระไชยเชษฐาธิราช พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ทำพิธีปักปันเขตแดนกัน ใน พ.ศ. ๒๑๐๓ ซึ่งเป็นเวลาที่พระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดีได้แผ่อำนาจเข้าสู่ล้านนาและเข้ายึดเมือง เชียงใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๑๐๑

สงครามกับพม่าครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๑๐๖ นั้นเรียกกันในประวัติศาสตร์ไทยว่าสงครามช้างเผือก เพราะพระเจ้าบุเรงนองส่งราชทูตเข้ามาทูลขอพระราชทานช้างเผือกจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อถูกปฏิเสธ พระเจ้าบุเรงนองจึงจัดแต่งทัพพม่ามาโจมตีกรุงศรีอยุธยา ทัพพม่าสามารถเข้ามาถึงกรุง ได้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องเสด็จออกไปเจรจาความสงบศึก โดยโปรดให้ตั้งพลับพลาขึ้นระหว่าง วัดหน้าพระเมรุและวัดหัสดาวาส ยอมรับไมตรีของพม่าและพระราชทานช้าง ๔ เชือกให้พร้อมทั้งให้ พระราเมศวร พระยาจักรีและพระยาสุนทรสงครามไปเป็นตัวประกันที่พม่า พระราชพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยาบันทึกเหตุการณ์ไว้ว่า

ครั้นรุ่งขึ้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์พร้อมด้วยมุขมนตรี กวีชาติราชครูโหราโยธาหาญข้ามไป เสด็จขึ้นบนพระที่นั่ง ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าหงสาวดี พร้อมด้วยท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวงเสด็จมา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าร้อง อัญเชิญเสด็จ สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีเสด็จขึ้นบนพระที่นั่งแล้วตรัสว่า สมเด็จพระเจ้าพี่เราให้ อาราธนาพระพุทธปฏิมากรเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า มาเป็นประธานก็ดีอยู่แล้ว ขอจง เป็นสักขีพยานเถิด อันแผ่นดินกรุงเทพมหานครศรีอยุธยานี้ยกถวายไว้แด่สมเด็จพระเจ้า พี่เรา แต่ทว่าน้องท่านให้มาขอช้างเผือก ๒ ช้าง พระเจ้าพี่มิได้ให้บัดนี้ต้องยกพยุหโยธาหาญ มาโดยวิถีทุเรศกันดารจะขอช้างเผือกอีก ๒ ช้าง เป็น ๔ ช้าง พระเจ้าพี่จะว่าประการใด สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ตรัสบัญชาให้สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีตรัสว่า จะขอ พระราเมศวรไปเลี้ยงเป็นพระราชโอรส ถ้าพระเจ้าพี่เราให้แล้วจะยกทัพกลับไป สมเด็จพระ มหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าตรัสตอบว่า ขอไว้เถิด จะได้สืบประยูรวงศ์ สมเด็จพระเจ้า หงสาวดีตรัสว่า พระมหินทราธิราชผู้น้องนั้นก็สืบวงศ์ได้อยู่ อันจะเอาไว้ด้วยกัน ถ้าพระเจ้า พี่เราสวรรคตแล้ว ดีร้ายพี่น้องจะหม่นหมองมีความพิโรธกัน สมณพราหมณามุขมนตรี อาณาประชาราษฎร์จะได้ความเดือดร้อน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าขัดมิได้ ก็บัญชาตาม สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีตรัสว่า จะขอพระยาจักรีและพระสุนทรสงครามไปด้วย พระราชโอรส สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ยอมให้แล้วตรัสว่า อาณาประชาราษฎรหัวเมืองและข้าขอบขัณฑเสมาซึ่งกองทัพจับไว้นั้น ขอไว้สำหรับพระนครเถิด สมเด็จ พระเจ้าหงสาวดีก็บัญชาให้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าส่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราเมศวร และพระยาจักรีพระสุนทรสงคราม กับช้างพลายเผือก ๔ ช้าง คือพระคเชนทโรดม พระบรมไกรสร พระรัตนากาศ พระแก้วทรงบาศ ให้สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีแล้ว เสด็จเข้าพระราชวัง

นอกจากนั้น พระเจ้าบุเรงนองยังมีบัญชาให้กรุงศรีอยุธยาต้องส่งเครื่องราชบรรณาการอันมี ช้างศึก ๓๐ ช้าง เงิน ๓๐๐ และส่วยอันเก็บได้จากเมืองตะนาวศรีไปถวายทุกปีพงศาวดารพม่ายังระบุ เพิ่มเติมว่าในศึกครั้งนั้น เมื่อพระเจ้าหงสาวดีเสด็จกรีธาทัพกลับซึ่งตรงกับวันอังคารที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๑๐๗ พระองค์ได้ทรงกวาดต้อนเชลยศึกไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีเหล่าผู้ชำนาญนาฏศิลป์ดนตรี ชายหญิง สถาปนิก ช่างศิลป์ช่างเหล็ก ช่างไม้ช่างผม เหล่าวิเสทคนครัว ช่างทองแดง ช่างย้อม (ผ้า) ช่างทอง ช่างทำเครื่องเงิน หมอรักษาช้าง ม้า จิตรกร ช่างทำเครื่องหอม ช่างเงิน ช่างแกะหิน ช่างปูนปั้น ช่างแกะไม้และช่างปั้นหม้อ 

ผลจากสงครามครั้งนั้นทำให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงสละราชสมบัติและสมเด็จพระ มหินทราธิราชขึ้นสืบราชบัลลังก์แทน พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่หาได้มีบารมีมากพอ อีกทั้งก่อนที่ สมเด็จพระมหินทราธิราชจะขึ้นเสวยราชสมบัติก็ได้เกิดกรณีการชิงตัวพระเทพกษัตรีย์ใน พ.ศ. ๒๑๐๗ ซึ่งราชสำนักอยุธยาส่งไปให้สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชกษัตริย์ล้านช้าง เพื่อให้อภิเษกขึ้นเป็นอัครมเหสี ตามที่กษัตริย์ล้านช้างขอพระราชทานมา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า พระมหาธรรม- ราชาเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุครั้งนั้น เพราะพระองค์เป็นผู้ให้ม้าเร็วถือหนังสือไปถวายพระเจ้าหงสาวดี ทำให้พระเจ้าหงสาวดีสามารถส่งคนมาชิงตัวพระเทพกษัตรีย์ไปได้กล่าวได้ว่าเหตุการณ์นี้เป็นอีกสาเหตุ หนึ่งที่นำมาซึ่งความร้าวฉานระหว่างหัวเมืองเหนือกับกรุงศรีอยุธยา

ความขัดแย้งระหว่างอยุธยาและพิษณุโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ภายหลังจากที่สมเด็จพระ มหินทราธิราชขึ้นเสวยราชย์นั้น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า

ครั้งนั้นเมืองเหนือทั้งปวงเป็นสิทธิ์แก่พระมหาธรรมราชาเจ้า อนึ่ง การแผ่นดินใน กรุงพระมหานครศรีอยุธยาพระมหาธรรมราชาบังคับบัญชาลงมาประการใด สมเด็จพระ มหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินต้องกระทำตามทุกประการก็ขุ่นเคืองพระราชหฤทัย จึงเอา ความนั้นไปกราบทูลสมเด็จพระราชบิดา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกก็น้อย พระทัย...

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๑๐๙ (โดยประมาณ) สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงนำกำลังสมทบกับกำลังของ พระไชยเชษฐา กรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) ยกขึ้นทำศึกกับพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพิษณุโลกเป็น เหตุให้สัมพันธไมตรีระหว่างราชสำนักอยุธยาและพิษณุโลกขาดสะบั้นลง พระมหาธรรมราชาเสด็จออก ไปยังราชสำนักพระเจ้าหงสาวดีขณะที่พระมหาจักรพรรดิเสด็จขึ้นไปรับพระราชธิดาพระวิสุทธิกษัตรีย์ กับสมเด็จพระเอกาทศรถลงมายังกรุงศรีอยุธยา

ฐานะของพระมหาธรรมราชาและเมืองพิษณุโลกภายหลังสงคราม พ.ศ. ๒๑๐๖ นั้น มิได้ต่างไป จากเมืองประเทศราชของหงสาวดีหากแต่ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหาธรรมราชากับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีมาลึกซึ้งแต่เดิมยังเป็นแรงเหนี่ยวรั้งอยู่ พระมหาธรรมราชาจึงมีฐานะไม่ต่างไปจาก “เจ้าสอง ฝ่ายฟ้า” หากต่อมาภายหลังสมเด็จพระมหินทราธิราชกษัตริย์อยุธยาได้ใช้วิธีรุนแรง คือสมคบกับ พระไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างนำกำลังขึ้นตีพิษณุโลก เป็นเหตุให้พระมหาธรรมราชาจำเป็นต้องหัน เข้าพึ่งบารมีพระเจ้าบุเรงนองเพื่อคานอำนาจฝ่ายอยุธยา เป็นชนวนนำมาซึ่งสงครามในปีพ.ศ. ๒๑๑๑- พ.ศ. ๒๑๑๒

หลักฐานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและพงศาวดารพม่าระบุต้องกันว่า เหตุที่พระเจ้าบุเรงนอง ทรงกรีธาทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบหนึ่งใน พ.ศ. ๒๑๑๒ นั้น ก็เนื่องด้วยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งได้กระทำสัตย์สาบานว่าจะจงรักภักดียอมตนเป็นเจ้าประเทศราชต่อกรุงหงสาวดีได้คิดแข็งข้อเป็น กบฏ และยังหักหาญขึ้นไปเทครัวเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของกรุงหงสาวดีภายใต้การ ปกครองของ “เจ้าฟ้าสองแคว” ซึ่งเป็นพระยศที่พระเจ้าบุเรงนองทรงสถาปนาให้กับพระมหาธรรมราชา เจ้าเมืองในขอบขัณฑสีมาหงสาวดี การกระทำดังกล่าวนี้เท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจของพระเจ้า บุเรงนอง จึงจำเป็นที่พระองค์จะต้องเปิดศึกกับอยุธยาอีกครั้ง

หากยึดหลักฐานข้างพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาก็มีความเป็นไปได้ว่า ก่อนเกิดศึก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงสละราชสมบัติไปแล้วในราว พ.ศ. ๒๑๐๘ หลังเหตุการณ์การชิงตัว พระเทพกษัตรีย์ ๑ ปีหลังจากนั้นก็เสด็จไปประทับที่วังหลัง ขณะนั้นพระชนมายุได้๕๙ พรรษา ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าพระองค์ออกผนวชที่วัดใด และออกผนวชเมื่อไร แต่หลักฐานในพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยาระบุว่า “พระเจ้าช้างเผือก เวณราชสมบัติแล้ว ถึงเดือน ๓ ก็เสด็จขึ้นเมืองลพบุรี ตรัสให้ บูรณะอารามพระศรีรัตนมหาธาตุให้บริบูรณ์ และแต่งปะขาวนางชี ๒๐๐ กับข้าพระให้อยู่รักษา พระมหาธาตุ แล้วก็เสด็จลงมายังกรุงพระมหานครศรีอยุธยา” เป็นไปได้ว่าจะทรงผนวชอยู่จนถึงปี พ.ศ. ๒๑๑๐ หรือต้น พ.ศ. ๒๑๑๑ เป็นอย่างช้า แล้วจึงเสด็จลาพระผนวชเพื่อขึ้นครองแผ่นดิน อีกคำรบหนึ่งตามการอัญเชิญของสมเด็จพระมหินทราธิราช ในปีถัดมาคือใน พ.ศ. ๒๑๑๑ พระเจ้า บุเรงนองก็กรีธาทัพใหญ่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ครั้งนี้ทางกรุงศรีอยุธยาเตรียมการตั้งรับเข้มแข็ง พระเจ้าบุเรงนองไม่อาจตีหักพระนครได้โดยง่าย แต่แล้วสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็เสด็จสวรรคต ระหว่างศึก พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ระบุว่า 

ศักราช ๙๓๐ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๑๑๑) ในเดือน ๑๒ นั้น พระเจ้าหงสายกพลมาแต่ เมืองหงสา ครั้นเถิงวันศุกร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑ พระเจ้าหงสามาเถิงกรุงพระนครศรีอยุธยา ตั้งทัพตำบลหล่มพลีและเมื่อเศิกหงสา เข้าล้อมพระนครศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระมหา จักรพรรดิเจ้าทรงพระประชวรนฤพาน...

พงศาวดารที่ชำระในสมัยหลังระบุว่า “ทรงประชวนหนัก ประมาณ ๒๕ วัน ก็เสด็จสวรรคต” หลักฐานในพงศาวดารพม่าระบุว่า ภายหลังจากพระเจ้าหงสาวดีล้อมกรุงศรีอยุธยาแล้วเป็นเวลา ๔ เดือน “พระเจ้าอยุธยาทรงพระนามว่าพระสาธิราชา (เธียรราชา) ที่ทรงผนวชและเป็นขบถนั้น สิ้นพระชนม์ ในวันศุกร์ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๖ จุลศักราช ๙๓๑ (พ.ศ. ๒๑๑๒)”

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »



ตำแหน่ง

Lek Thi 206 Soi 8 ตำบล เนินมะปราง อำเภอเนินมะปราง พิษณุโลก 65190 ประเทศไทย


คำอธิบายการค้นหา

Num ... 2627615 blogger Blog for save Make safe editor Sight seeing view blog ID ... Phasa Thai รายละเอียดคำศัพท์ ... 

☆ เซฟบล็อก! ☆