พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๒

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๒


พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระ พุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระนามเดิม ฉิม ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันพุธที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๐ ณ นิวาสสถานตำบลอัมพวา สมุทรสงคราม ซึ่งขณะนั้น กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว ขณะที่ประสูตินั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยัง ทรงรับราชการเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โดยเสด็จ พระบรมราชชนกในการศึกสงครามตลอดมา ทั้งก่อนและหลังเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็น ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระเกียรติยศเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และได้ทรงรับราชการใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ดูแลงานต่างพระเนตร พระกรรณเสมอมา ใน พ.ศ. ๒๓๔๙ ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราช หลังจากที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคต

ใน พ.ศ. ๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต พระบาท สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๒ แห่ง พระบรมราชวงศ์จักรี ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่บ้านเมืองเป็น อเนกประการ ทำให้บ้านเมืองสงบและอุดมสมบูรณ์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยถือได้ว่าเป็นยุคทองของวรรณคดีเพราะ วรรณคดีของชาติรุ่งเรืองมาก ได้ทรงส่งเสริมงานศิลปะทุกประเภท ทรงพระปรีชาสามารถในงาน วรรณกรรมและบทละครเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชนิพนธ์งานวรรณกรรมและบทละครต่างๆ ที่ทรง คุณค่าไว้จำนวนมาก เช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน (บางตอน) บทละครเรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ คาวี ไกรทอง มณีพิชัย สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ กาพย์เห่เรือ และบทพากย์โขนตอนเอราวัณ นาคบาศ และ นางลอย พระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ว่าเป็นยอด ของบทละครรำ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในคำนำบทละครเรื่อง รามเกียรติ์ว่า “นักเลงหนังสือก็ดี นักเลงดูละครก็ดี ต้องยอมรับทั้งนั้นว่าเป็นหนังสืออันดีเป็นบทกลอน ไพเราะและถ้อยคำสำนวนดี เป็นตัวอย่างดียิ่งอันหนึ่งแห่งจินตกวีนิพนธ์ในภาษาไทยเรา สมควรแล้ว ที่จะเป็นหนังสือซึ่งจะรักษาไว้เป็นแบบแผน” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงยกย่องว่า “ส่วนบทละครนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์เป็นจินตกวีอย่างวิเศษที่สุดองค์ ๑”

บทพระราชนิพนธ์ต่างๆ นอกจากจะมีความไพเราะงดงามแล้ว ยังให้ความรู้ด้านการศึกษา ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมด้วย เช่น ประเพณีโสกันต์ ประเพณีงานพระเมรุ 

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังสนพระราชหฤทัยด้านศิลปะการดนตรี เป็นอย่างยิ่ง ทรงเชี่ยวชาญและโปรดซอสามสาย พระองค์มีซอคู่พระหัตถ์อยู่คันหนึ่ง พระราชทานนาม ว่า “ซอสายฟ้าฟาด” ในรัชสมัยของพระองค์ศิลปะด้านนาฏกรรมเจริญรุ่งเรืองมาก ความงดงามไพเราะ ทั้งบทและกระบวนการรำได้ปรับปรุงและใช้เป็นแบบแผนทางนาฏศิลป์ของชาติมาจนปัจจุบัน และ ศิลปะด้านการดนตรีก็เจริญรุ่งเรืองทั้งทางมโหรี ปี่พาทย์ และขับร้อง ทั้งยังทรงงานศิลปกรรมที่ทรง คุณค่ายิ่งไว้อีกหลายประการ เช่น หน้าหุ่นพระยารักใหญ่และพระยารักน้อย ลวดลายพระที่นั่งสนาม จันทร์ซึ่งเป็นพระที่นั่งไม้ขนาดเล็ก หุ่นพระพักตร์พระพุทธรูปประธานวัดอรุณราชวราราม บานประตู พระวิหารวัดสุทัศนเทพวรารามที่แกะเป็นรูปป่าเขาลำเนาไพรและสิงสาราสัตว์นานาชนิด เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้ขยายอาณาเขตพระบรมมหาราชวัง และทรงสร้างสวนสำหรับประพาสไว้ในพระบรมมหาราชวังที่สร้างไว้เดิมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เรียกว่าสวนขวา ให้มีความงดงามบริบูรณ์ การสร้างสวนขวานี้มี นัยสำคัญเกี่ยวกับราชการบ้านเมืองคือทำให้ปรากฏพระเกียรติยศแสดงให้นานาประเทศเห็นว่าไทย มีกำลังสร้างราชธานีได้ใหม่เหมือนดังราชธานีเดิมครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อชาวต่างประเทศและหัวเมือง ประเทศราชมาเฝ้า โปรดเกล้าฯ ให้พนักงานพาไปชมความงามของสวนขวา ซึ่งเป็นที่สรรเสริญ พระเกียรติยศไปนานาประเทศ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศยกเลิก ธรรมเนียมการยิงกระสุนในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงได้ช้างเผือกเอกมาสู่พระบารมีถึง ๓ ช้าง ถือว่าเป็นมิ่งมงคลเพิ่มพูนพระเกียรติยศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ธงที่ชักในเรือกำปั่นหลวงที่ไปค้าขายยังนานาประเทศทำรูปช้างสีขาวอยู่กลางวงจักรติดในธงพื้นแดง และใช้เป็นธงชาติไทยต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเปลี่ยนมาเป็น ธงไตรรงค์เช่นปัจจุบัน

ด้านการค้ากับต่างประเทศ ปรากฏว่าการค้ากับจีนและประเทศทางตะวันตกเฟื่องฟูมาก ทรง ส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ โดยทรงส่งเรือสำเภาไปค้าขายกับจีน เขมร ญวน มลายู มีเรือสินค้า ของหลวงเดินทางไปจีนเป็นประจำ รวมทั้งประเทศตะวันตกต่างๆ เช่น โปรตุเกส อังกฤษ นำรายได้ เข้าสู่ประเทศจำนวนมาก

ในด้านสังคม ทรงพระราชดำริว่าการสูบฝิ่นเป็นอันตรายแก่ผู้สูบ ทั้งก่อให้เกิดคดีอาชญากรรม ขึ้นมาก แม้ฝิ่นจะนำรายได้จำนวนมากเข้าพระคลังหลวง แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อราษฎร ทรง ตราพระราชกำหนดห้ามมิให้ซื้อขายและสูบฝิ่น ทรงกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไว้อย่างหนัก

ในด้านปกครองนั้น ทรงริเริ่มการแต่งตั้งเจ้านายให้กำกับราชการกระทรวงต่างๆหลายพระองค์ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงกำกับราชการกรม มหาดไทย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพสำเร็จราชการกรมพระกลาโหม และพระเจ้า ลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) สำเร็จราชการกรมพระคลัง (คือกรมท่า) การให้เจ้านายกำกับราชการกระทรวงต่างๆนับเป็นพระราชดำริที่มีความสำคัญต่อการ บริหารราชการแผ่นดิน เพราะเจ้านายจะได้ทรงเรียนรู้การบริหารงานซึ่งเป็นประโยชน์ในเวลาต่อมา เป็นอย่างยิ่ง

ส่วนการพระศาสนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มการประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๖๐ เป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ พระราชกรณียกิจในการฟื้นฟูประเพณีการจัดงานวันวิสาขบูชา ได้เป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และโปรดเกล้าฯ ให้มีการแก้ไขวิธีสอบพระปริยัติธรรมซึ่งเดิม แบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ เปรียญตรี เปรียญโท และเปรียญเอก โดยโปรดให้กำหนดวิธีสอบเป็น ๙ ประโยค ผู้สอบได้ ๓ ประโยคขึ้นไปนับว่าเป็นเปรียญ นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการสังคายนาบทสวดมนต์ และมีพระราชดำริว่าพระสงฆ์ในลังกาทวีปเป็นสมณวงศ์เดียวกับพระสงฆ์ในสยามประเทศ และเคยมี สมณไมตรีติดต่อกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ขาดการติดต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งสมณทูตไป ลังกาเพื่อทราบการพระศาสนาและศาสนาวงศ์ในลังกาทวีปด้วย

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองที่ปากลัดต่อจากที่ค้างไว้ พระราชทานนามว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ แล้วโปรดให้ย้ายครัวมอญเมืองปทุมธานีไปอยู่ที่เมือง นครเขื่อนขันธ์ และใน พ.ศ. ๒๓๖๒ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงเป็น แม่กองสร้างเมืองสมุทรปราการ ให้เป็นเมืองป้อมปราการสำหรับป้องกันข้าศึกที่ใช้เส้นทางเดินทัพมาตี ไทยทางทะเล

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงครองสิริราชสมบัติเป็นเวลา ๑๕ ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗ ขณะพระชนมพรรษา ๕๖ พรรษา พระองค์มีพระราชโอรสและ พระราชธิดา รวม ๗๓ พระองค์

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศ ยกย่องพระเกียรติคุณให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นบุคคลสำคัญของโลกในอภิลักขิตสมัยครบรอบ ๒๐๐ ปี แห่งพระบรมราชสมภพ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ นับว่าทรงเป็นคนไทยลำดับที่ ๓ ที่ ได้รับการประกาศเกียรติคุณนี้

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »