พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๒๗

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๒๗


สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๒๗ แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา ๓๒ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๙๙ - พ.ศ. ๒๒๓๑ เป็นพระราชโอรสใน สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เชื่อกันว่าพระราชชนนีสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระราชธิดาใน สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จพระราชสมภพเมื่อราว พ.ศ. ๒๑๗๔ หรือ พ.ศ. ๒๑๗๕ เพราะพระราชพงศาวดารบันทึกว่าใน พ.ศ. ๒๑๙๙ นั้นทรงสั่งให้ประกอบพระราชพิธีเบญจเพสในเดือนยี่ เมื่อแรกประสูตินั้นพระประยูรญาติเห็นเป็น ๔ กร จึงขนานพระนามว่า “สมเด็จพระนารายณ์” มีพระราชอนุชาร่วมพระชนกหลายพระองค์ และมีพระขนิษฐภคินีร่วมพระ ชนนีเดียวกันคือเจ้าฟ้าศรีสุวรรณ หรือพระราชกัลยาณี ซึ่งต่อมาโปรดให้สถาปนาขึ้นเป็น กรมหลวง โยธาทิพ

ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงศึกษาเล่าเรียนกับพระภิกษุหลายสำนัก ทั้งทรงชำนาญในศิลปศาสตร์เป็นอย่างดี เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จสวรรคตและสมเด็จพระ ศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชย์สืบต่อมาได้ ๒ เดือนแล้ว สมเด็จพระนารายณ์มหาราชขณะดำรงพระยศ ที่กรมพระราชวังบวรได้ทรงยึดอำนาจและเสด็จขึ้นครองราชย์ เฉลิมพระนามตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า

สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ บรมมหาจักรพรรดิศวร ราชาธิราช ราเมศวรธราธิบดีศรีสฤษดิรักษสังหาร จักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดีศรีสุวิบูลย์คุณอขนิฐจิตรรุจีศรีภูวนาทิตย ฤทธิพรหมเทพาดิเทพ บดินทร ภูมินทราธิราช รัตนาภาศมนุวงษ์ องค์เอกาทศรุฐ วิสุทธยโสดม บรมอาชาธยาศัย สมุทัยดโนรมนต์อนันตคุณ วิบุลสุนทร บวรธรรมิกราชเดโชไชย ไตรโลกนารถบดินทร์ วรินทราธิราช ชาติพิชิตทิศพลญาณสมันต์มหันตวิปผาราฤทธิวิไชย ไอสวรรยาธิปัติขัติยวงษ์ องค์ปรมาธิบดีตรีภูวนาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธมกุฏรัตนโมฬีศรีประทุมสุริยวงศ์องค์ สรรเพชญ์พุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว

อย่างไรก็ดีพระนามของพระองค์ที่ปรากฏในจารึกวัดจุฬามณี พ.ศ. ๒๒๒๔ ว่า “พระศรี สรรเพชญ์ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีศินทรมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราชรามเศวรธรรมิกราชเดโช ไชยบรมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศรโลกเชษฐวิสุทธิมกุฏพุทธางกูร บรมจักรพรรดิศวรธรรมิกราชาธิราช”

หลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๑๙๙ แล้ว สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงประกอบ พระราชกรณียกิจเป็นอเนกประการ ทั้งการทำนุบำรุงบ้านเมือง การสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆทั่ว ราชอาณาจักร โดยใน พ.ศ. ๒๒๐๘-พ.ศ. ๒๒๐๙ โปรดให้สถาปนาเมืองลพบุรีขึ้นเป็นที่ประทับอีกแห่ง หนึ่ง เพื่อรักษาความมั่นคงของราชบัลลังก์ และเป็นการสร้างที่ประทับเพื่อพระราชกรณียกิจส่วน พระองค์ ปรากฏหลักฐานในเอกสารหลายฉบับทั้งไทยและต่างประเทศว่ารัชกาลของพระองค์มีความ ยิ่งใหญ่เหนือรัชกาลอื่นโดยเฉพาะเรื่องการติดต่อกับต่างประเทศ เป็นเหตุให้ประวัติศาสตร์อยุธยาใน ช่วงรัชกาลของพระองค์มีเอกสารมากมายที่มีประโยชน์ยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย

การศึกสงครามในช่วงต้นแผ่นดินนั้นมีทั้งสงครามในและนอกพระนคร ทรงยกทัพขึ้นไปตีเมือง เชียงใหม่ ส่วนในพระนครก็เกิดกบฏพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ขึ้น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกว่าพระไตรภูวนาทิตยวงศ์กับพระองค์ทองคิดการกบฏ ทั้งสองพระองค์เป็นพระอนุชา ต่างพระชนนีกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่การกบฏครั้งนี้ไม่สำเร็จ ทั้งสองพระองค์ถูกจับกุม สำเร็จโทษพร้อมพรรคพวกอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เช่น ออกญาพลเทพ ออกญา กลาโหม ออกญาพัทลุง ออกพระศรีภูริปรีชา เป็นต้น ทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่ไว้วาง พระราชหฤทัยขุนนางเดิม และทรงเพิ่มความสนิทสนมกับชาวต่างชาติมากขึ้น

ในเรื่องของการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา สิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทรงเป็นองค์ พุทธมามกะและองค์ศาสนูปถัมภกของพระพุทธศาสนาก็คือ พระราชดำรัสตอบแก่ราชทูตฝรั่งเศส เชอวาลิเยร์ เดอ โชมอง (Chevalier de Chaumont) เมื่อราชทูตได้กราบบังคมทูลชักจูงให้พระองค์ ทรงเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนา แต่พระองค์มีพระราชดำรัสตอบว่าจะให้ทรงละทิ้งศาสนาที่บรรพบุรุษ ของพระองค์นับถือมากว่าสองพันปีได้อย่างไร แต่เมื่อใดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงปรารถนาให้พระองค์เปลี่ยน ศาสนาแล้วก็จะทรงยินยอมตามนั้น

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดียิ่ง และอาจนับได้ว่าการ พระพุทธศาสนาในช่วงรัชกาลของพระองค์ได้เจริญรุ่งเรืองมาก ทรงบูรณะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมือง ลพบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมายังอยุธยา ดังที่ปรากฏในวรรณคดีสำคัญของยุค คือโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ เอกสารสำคัญในรัชกาลที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาคือ พระราชปุจฉาที่ทรงมีไปถึงพระสงฆ์ผู้ทรงภูมิธรรมเพื่อทรงไต่ถามข้อสงสัย ซึ่งในรัชกาลสมเด็จพระ นารายณ์มหาราช ปรากฏชื่อพระพรหมมุนี วัดปากน้ำประสบ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็น ผู้ถวายวิสัชนาพระราชปุจฉาอยู่เสมอๆ ธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้ยังปรากฏเป็นหลักฐานต่อมาว่า พระมหากษัตริย์อยุธยาโปรดที่จะมีพระราชปุจฉาเรื่องทางโลกและทางธรรมแก่พระสงฆ์หรือพระราชา คณะที่ทรงนับถือ เช่นพระเพทราชาก็ยังทรงปฏิบัติสืบมา จึงแสดงให้เห็นว่านับแต่รัชกาลสมเด็จพระ นารายณ์มหาราชลงมาแล้ว การเอาใจใส่พระสงฆ์มีเพิ่มมากขึ้นกว่าก่อนมาก

ในด้านงานวรรณกรรม ปรากฏว่าวรรณคดีไทยได้รับความนิยมและเฟื่องฟูเป็นอย่างยิ่ง เพราะ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นกวีด้วยพระองค์หนึ่ง พระราชนิพนธ์สำคัญคือสมุทรโฆษคำฉันท์ (ตอนต้น) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระมหาราชครูแต่งจินดามณีขึ้นเป็นตำราเรียน

สำหรับความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ในช่วงรัชสมัยเป็นการเปิดโลกทัศน์ของสยามออกสู่ ตะวันตกมากขึ้น ทรงติดต่อกับประเทศในภูมิภาคตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น ชวา ญวน อินเดีย และ ประเทศในดินแดนตะวันตกนับแต่เปอร์เซียจนถึงประเทศในทวีปยุโรป ในช่วงต้นรัชกาลมีกลุ่มบาทหลวง มิชชันนารีเดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาและสืบทอดกิจการของคริสต์ศาสนา ซึ่งพระองค์ก็ทรง อนุเคราะห์ที่ดินให้ปลูกสร้างอาคาร และพระราชทานเสรีภาพในการเผยแผ่ศาสนา การที่สังคมอยุธยา มีพ่อค้าและบาทหลวงต่างชาติเดินทางเข้ามามากเช่นนี้ ทำให้บทบาทของชาวต่างชาติมีมากขึ้น โดย เฉพาะอย่างยิ่งเจ้าพระยาวิไชเยนทร์หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantin Phaulkon) ชาวกรีก ซึ่งเข้ารับราชการเป็นลำดับจนถึงตำแหน่งว่าที่สมุหนายกและกำกับดูแลพระคลัง ทั้งยังมีบทบาทในการ เริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับประเทศฝรั่งเศสด้วย

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงส่งคณะทูตสยามไปฝรั่งเศสหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๔ ทรงจัดให้ออกพระพิพัฒน์ราชไมตรีเป็นราชทูต ออกขุนศรีวิสารสุนทรเป็นอุปทูต ออกขุนนครวิชัยเป็น ตรีทูต เดินทางโดยเรือกำปั่นฝรั่งเศส แต่ทว่าเคราะห์ร้ายที่เรือไปแตกที่นอกฝั่งเกาะมาดากัสการ์ 

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๒๒๗ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระวิตกที่คณะทูตชุดแรกสูญหายไป จึงโปรดให้ออกขุนวิชัยวาทิตและออกขุนพิชิตไมตรีกับบาทหลวงวาเชต์ (Vachet) ผู้เป็นล่ามเดินทางไป สืบข่าวคณะทูตชุดแรก เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงทราบว่าคณะราชทูตสยามชุดก่อนเรือแตกอับปาง ลง ก็ทรงดำริที่จะแต่งทูตมาเป็นการสนองตอบ จึงทรงส่งเมอสิเออร์ เชอวาลิเยร์ เดอ โชมอง เป็น เอกอัครราชทูต พร้อมคณะเดินทางเข้ามาถึงปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๒๒๘

การต้อนรับคณะทูตและพระราชสาส์นจากฝรั่งเศสเป็นไปด้วยความยิ่งใหญ่อลังการและสม พระเกียรติยศพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทำให้การต้อนรับคณะทูตจากฝรั่งเศสซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ทรงดูแลพวกตนเป็นอย่างดี ครั้นเมื่อคณะทูตฝรั่งเศสจะเดินทางกลับ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงจัดแต่งคณะทูตขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบด้วยออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) เป็นราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรีเป็นอุปทูต ออกขุนศรีวิสารวาจาเป็นตรีทูต เดินทางไปเจริญ พระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทั้งหมดออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ ไปถึงเมืองแบรสต์ (Brest) เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๒๒๙ เมื่อได้เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวาย พระราชสาส์นแล้ว ก็ได้เยี่ยมชมสถานที่ต่างๆในประเทศฝรั่งเศส นับได้ว่าการเจริญพระราชไมตรีครั้งนี้ เป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่และได้รับการกล่าวขานมากที่สุด

ในปลายรัชกาล สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระประชวร พระเพทราชาและออกหลวง สรศักดิ์พระโอรสบุญธรรมร่วมกับขุนนางอีกจำนวนหนึ่งยึดอำนาจ ด้วยเกรงว่าอำนาจของชาวต่างชาติจะมีมากเกินไปและเป็นอันตรายต่อราชอาณาจักร เจ้าพระยาวิไชเยนทร์จึงถูกสำเร็จโทษประหารชีวิต พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จกรมพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ระบุไว้ดังนี้

ศุภมัสดุศักราช ๑๐๕๐ ปีมะโรงสำเรทศก สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าเสด็จขึ้นไป เมืองลพบุรีอยู่ประมาณเดือนหนึ่งทรงประชวรหนักลง วันหนึ่งหม่อมปีย์เสด็จออกมาสรง พระพักตร์อยู่ ณ ศาลา พญาสุรศักดิ์เข้าไปจะจับ หม่อมปีย์วิ่งเข้าไปในที่บรรทมร้องว่า ทูลกระหม่อมแก้วช่วยเกล้ากระหม่อมดิฉันด้วย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ไอ้พ่อลูกนี้ คิดทรยศจะเอาสมบัติแล้ว มีพระราชโองการสั่งให้ประจุพระแสงปืนข้างที่ แล้วให้หา พญาเพทราชา พญาสุรศักดิ์ก็เข้าไปยืนอยู่ที่พระทวารทั้งสองคน สมเด็จพระนารายณ์เป็น เจ้าเสด็จบรรทมอยู่ ยื่นพระหัตถ์คลำเอาพระแสงปืนเผยอพระองค์จะลุกขึ้นก็ลุกขึ้นมิได้ กลับบรรทมหลับพระเนตร

จากนั้นกลุ่มบุคคลต่างๆก็ถูกสำเร็จโทษ ดังที่พระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ บรรยายไว้ว่า “พญาวิไชเยนทร์เดินไปประมาณเส้นหนึ่ง รักษาองค์เอาตะบองตีท้องหักล้มลง แล้ว พญาสุรศักดิ์เข้าไปจับหม่อมปีย์ได้ เอาไปล้างเสียทั้งพญาวิไชเยนทร์” ส่วนสมเด็จพระนารายณ์ มหาราชนั้นได้เสด็จสวรรคตในอีก ๑ เดือนต่อมา คือในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๓๑ ณ พระที่นั่ง สุทธาสวรรค์ในบริเวณพระราชวังเมืองลพบุรี

การที่ในรัชกาลของพระองค์มีการติดต่อกับต่างชาติมากเช่นนี้เอง ทำให้มีเอกสารหลักฐานที่ เรียบเรียงโดยชาวต่างชาติจำนวนมากที่อธิบายเรื่องราวสภาพสังคมและการเมืองของสยามไว้ ทั้งได้ พรรณนาพระรูปลักษณะของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไว้ด้วย ดังที่นิโคลาส์ แชร์แวส ชาวฝรั่งเศสที่ เดินทางเข้ามาในอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐-พ.ศ. ๒๒๓๑ บรรยายไว้ว่า

พระองค์ทรงมีพระรูปพรรณสันทัด พระอังสาค่อนข้างยกสูง ใบพระพักตร์ยาว พระฉวีวรรณคล้ำ ดวงพระเนตรแจ่มใสและเต็มไปด้วยประกาย แสดงว่าทรงมีพระปรีชา ญาณมาก และในพระวรกายเป็นส่วนรวมมีลักษณะท่าทีที่แสดงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่และ สง่างามมาก กอปรด้วยพระอัธยาศัยอันอ่อนโยนและเมตตาอารียากนักที่ผู้ใดได้ประสบ พระองค์แล้ว จะเว้นความรู้สึกเคารพนับถืออย่างยิ่งและความรักอย่างสูงเสียได้

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระราชธิดา ๑ พระองค์ คือ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ และมี พระอนุชาคือเจ้าฟ้าอภัยทศและเจ้าฟ้าน้อย ซึ่งประทับที่อยุธยาและก็ถูกจับสำเร็จโทษที่เมืองลพบุรีใน พ.ศ. ๒๒๓๑ ด้วย

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญามหาราช เนื่องจากทรง ประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เป็นอเนกประการ ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ในหนังสือไทยรบพม่าว่า

ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ถึงไม่มีการศึกสงครามใหญ่หลวงเหมือนอย่างครั้ง แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรก็ดีเหตุสำคัญซึ่งอาจจะมีผลร้ายแรงแก่บ้านเมืองเกิดขึ้นหลาย ครั้งหลายคราว ถ้าหากสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงพระปรีชาสามารถ ให้รัฐฏาภิบาย นโยบายเหมือนอย่างสมเด็จพระนารายณ์แล้ว จะปกครองบ้านเมืองไว้ได้โดยยาก ด้วยเหตุนี้ ทั้งไทยและชาวต่างประเทศแต่ก่อนมา จึงยกย่องสมเด็จพระนารายณ์ว่าเป็นมหาราช พระองค์หนึ่ง

ดังนั้นจึงนับได้ว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สำคัญยิ่งพระองค์ หนึ่งของประวัติศาสตร์อยุธยา

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »



ตำแหน่ง

Lek Thi 206 Soi 8 ตำบล เนินมะปราง อำเภอเนินมะปราง พิษณุโลก 65190 ประเทศไทย


คำอธิบายการค้นหา

Num ... 2627615 blogger Blog for save Make safe editor Sight seeing view blog ID ... Phasa Thai รายละเอียดคำศัพท์ ... 

☆ เซฟบล็อก! ☆