พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๑๖

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๑๖


สมเด็จพระมหินทราธิราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๖ แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็น พระราชโอรสในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับสมเด็จพระสุริโยทัย เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สวรรคต สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงขึ้นครองราชย์ รัชกาลของสมเด็จพระมหินทราธิราชอาจกล่าว ได้ว่าเป็นช่วงที่อยุธยาเกิดความระส่ำระสายทั้งเหตุการณ์ภายในประเทศและศึกสงครามกับพม่า

เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จออกผนวชหลังจากสิ้นศึกสงครามกับพม่าใน พ.ศ. ๒๑๐๖ แล้ว สมเด็จพระมหินทราธิราชไม่ทรงวางพระทัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพิษณุโลกว่าจะไป ฝักใฝ่พม่า จึงลอบติดต่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) ให้ยกทัพ มาตีเมืองพิษณุโลก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๑๑ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงลาผนวช แต่ต้องเผชิญกับ ศึกพม่าที่นำโดยพระเจ้าบุเรงนอง ในระหว่างสงครามนั้นเอง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิสวรรคต  

การสงครามครั้งนั้น กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าปิดล้อมนานกว่า ๕ เดือน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ระบุความในช่วงรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราชไว้ว่า

ศักราช ๙๓๐ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๑๑๑) ในเดือน ๑๒ นั้น พระเจ้าหงสายกพลมาแต่ เมืองหงสา ครั้นเถิงวันศุกร์ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑ พระเจ้าหงสาเถิงกรุงพระนครศรีอยุธยา ตั้ง ทัพตำบลหล่มพลีและเมื่อเศิกหงสาเข้าล้อมพระนครศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เจ้าทรงพระประชวรนฤพาน และครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหินทราธิราช ตรัสมิได้ นำพาการเศิก แต่พระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวนั้นตรัสเอาพระทัยใส่ และเสด็จไปบัญชาการที่จะ รักษาพระนครทุกวัน ครั้นแลสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าตรัสรู้ว่า พระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาว เสด็จไปบัญชาการเศิกทุกวันดังนั้นก็มิไว้พระทัย ก็ให้เอาพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวนั้นไปฆ่า เสีย ณ วัดพระราม ครั้งนั้นการเศิกซึ่งจะรักษาพระนครนั้นก็คลายลง

ครั้งเถิงศักราช ๙๓๑ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๑๑๒) ณ วันอาทิตย์แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ เพลารุ่งแล้วประมาณ ๓ นาฬิกา ก็เสียกรุงพระนครศรีอยุธยาแก่พระเจ้าหงสา ครั้นเถิง วันศุกร์ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๒ ทำการปราบดาภิเษกสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเสวย ราชสมบัติกรุงพระนครศรีอยุธยา อนึ่งเมื่อพระเจ้าหงสาเสด็จกลับคืนไปเมืองหงสานั้น พระเจ้าหงสาเอาสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าขึ้นไปด้วย

สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงครองราชย์ ๒ ครั้ง รวมเวลาได้ ๗ ปี คราวแรกเสวยราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๖ พระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๑๑๒ พระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา เอกสารล้านนากล่าวว่าเป็นสิ้นวงศ์ที่สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าพรหมแห่งเชียงรายเชียงแสน

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »