พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๓

พระกษัตริย์ พระองค์ที่ ๓


พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เสวยราชย์ประมาณ พ.ศ. ๑๘๒๒ ถึงประมาณ พ.ศ. ๑๘๔๑ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย พระองค์ทรงรวบรวมอาณาจักร ไทยขึ้นเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น ทำให้ชาวไทยได้สะสมความรู้ทาง ศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่างๆสืบทอดกันมากว่า ๗๐๐ ปี พ่อขุนรามคำแหงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง พระเชษฐา องค์แรกสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์พระเชษฐาองค์ที่ ๒ ทรงพระนามตามศิลาจารึกว่า พระยา บานเมือง ได้เสวยราชย์ต่อจากพระราชบิดา เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วพ่อขุนรามคำแหงจึงได้เสวยราชย์ ต่อมา

ตามพงศาวดารโยนก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งสุโขทัย พระยามังรายมหาราช (หรือ พระยาเม็งราย) แห่งล้านนา และพระยางำเมืองแห่งพะเยา เป็นศิษย์ร่วมพระอาจารย์เดียวกัน ณ สำนักพระสุกทันตฤๅษีที่เมืองละโว้จึงน่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน พระยามังรายประสูติเมื่อ พ.ศ. ๑๗๘๒ พ่อขุนรามคำแหงน่าจะประสูติในปีใกล้เคียงกันนี้

เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมีพระชนมายุ ๑๙ พรรษา พระองค์ได้ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยต่อขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด (อยู่ริมแม่น้ำเมยใกล้จังหวัดตาก แต่อาจจะอยู่ในเขตประเทศพม่าในปัจจุบัน) พ่อขุน ศรีอินทราทิตย์จึงทรงขนานพระนามพ่อขุนรามคำแหงว่า “พระรามคำแหง” สันนิษฐานว่าพระนามเดิม ของพระองค์คือ “ราม” เพราะปรากฏพระนามเมื่อเสวยราชย์แล้วว่า “พ่อขุนรามราช” อนึ่ง สมัยนั้น นิยมนำชื่อปู่มาตั้งเป็นชื่อหลาน พระราชนัดดาของพระองค์มีพระนามว่า “พระยาพระราม” (จารึก หลักที่ ๑๑) และในชั้นพระราชนัดดาของพระราชนัดดามีเจ้าเมืองพระนามว่า “พระยาบาลเมือง” และ “พระยาราม” (เหตุการณ์ พ.ศ. ๑๙๖๒) ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ อักษรนิติ์

ตรีอมาตยกุล ได้เสนอว่า พ่อขุนรามคำแหงน่าจะเสวยราชย์ พ.ศ. ๑๘๒๒ เพราะเป็นปีที่ทรง ปลูกต้นตาลที่สุโขทัย ประเสริฐ ณ นคร จึงได้หาหลักฐานมาประกอบว่า กษัตริย์ไทอาหมทรงปลูก ต้นไทรครั้งขึ้นเสวยราชย์อย่างน้อย ๗ รัชกาลด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างโชคชัยว่ารัชกาลจะอยู่ยืนยง เหมือนต้นไม้อนึ่งต้นตาลและต้นไทรเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของลังกา

รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงเป็นยุคที่กรุงสุโขทัยเฟื่องฟูและเจริญขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก ระบบ การปกครองภายในก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการติดต่อสัมพันธ์กับ ต่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ไพร่ฟ้าประชาชนอยู่ดีกินดีสภาพบ้านเมืองก้าวหน้าทั้ง ทางเกษตร การชลประทาน การอุตสาหกรรม และการศาสนา อาณาเขตของกรุงสุโขทัยได้ขยายออก ไปกว้างใหญ่ไพศาล

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ ทำให้อนุชนสามารถ ศึกษาความรู้ต่างๆได้สืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ตัวหนังสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมี ลักษณะพิเศษกว่าตัวหนังสือของชาติอื่นซึ่งขอยืมตัวหนังสือของอินเดียมาใช้คือพระองค์ได้ประดิษฐ์ พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์เพิ่มขึ้นให้สามารถเขียนแทนเสียงพูดของคำภาษาไทยได้ทุกคำ และ ได้นำสระและพยัญชนะมาอยู่ในบรรทัดเดียวกันโดยไม่ต้องใช้พยัญชนะซ้อนกัน ทำให้เขียนและอ่าน หนังสือไทยได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้นมาก นับว่าพระองค์ทรงพระปรีชาล้ำเลิศ และทรงเห็นการณ์ไกล อย่างหาผู้ใดเทียบเทียมได้ยาก

ในด้านการปกครอง เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงขจัดอิทธิพลของเขมรออกไปจากเมืองสุโขทัย ได้ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ การปกครองของกษัตริย์สุโขทัยเป็นแบบพ่อปกครองลูก ดังข้อความใน จารึกหลักที่ ๑ ว่า “เมื่อชั่วพ่อกูกูบำเรอแก่พ่อกูกูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยกินดีกูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่อบ้านท่อเมือง ได้ช้างได้งวงได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู” ข้อความดังกล่าว แสดงการนับถือพ่อแม่ และถือว่าความผูกพันในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ครอบครัวทั้งหลายรวมกัน เข้าก็เป็นเมืองหรือรัฐ มีเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัว พระมหากษัตริย์เปรียบ เสมือนหัวหน้าครอบครัวใหญ่ ปกครองพลเมืองเสมือนเป็นลูกหลาน ช่วยให้มีที่ทำกิน คอยป้องกันมิให้ คนถิ่นอื่นมาแย่งชิงถิ่น ถ้าลูกหลานทะเลาะวิวาทกัน ก็ตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรม

พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะบริหารราชการแผ่นดิน ทำศึกสงครามตลอดจน พิพากษาอรรถคดีแต่ก็มิได้ใช้พระราชอำนาจเฉียบขาดอย่างกษัตริย์เขมร ดังปรากฏข้อความในจารึก หลักที่ ๑ ว่า ราษฎรสามารถค้าขายได้โดยเสรีเจ้าเมืองไม่เรียกเก็บจังกอบ หรือภาษีผ่านทาง ผู้ใด ล้มตายลง ทรัพย์สมบัติตกเป็นมรดกแก่ลูก หากผู้ใดไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีพิพาท ก็มีสิทธิ์ ไปสั่นกระดิ่งถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้

ยิ่งกว่านั้น พ่อขุนรามคำแหงมหาราชยังทรงใช้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องช่วยในการปกครอง โดยได้ทรงสร้างพระแท่นมนังศิลาบาตรขึ้น ให้พระเถรานุเถระแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชน ในวันพระ ส่วนวันธรรมดาพระองค์เสด็จประทับเป็นประธานให้เจ้านายและข้าราชการปรึกษาราชการ ร่วมกัน เมื่อประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาและประพฤติปฏิบัติแต่ในทางที่ดีที่ชอบ การ ปกครองก็จะสะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น

ในด้านอาณาเขต พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง คือ ทางทิศตะวันออกทรงปราบได้เมืองสระหลวง สองแคว (พิษณุโลก) ลุมบาจาย สะค้า (สองเมืองนี้อาจ อยู่แถวลุ่มแม่น้ำน่านหรือแควป่าสักก็ได้) ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปถึงเวียงจันทน์ เวียงคำในประเทศลาว ทางทิศใต้พระองค์ทรงปราบได้คนที(บ้านโคน กำแพงเพชร) พระบาง (นครสวรรค์) แพรก (ชัยนาท) สุพรรณภูมิราชบุรีเพชรบุรีนครศรีธรรมราช มีฝั่งทะเลสมุทร (มหาสมุทร) เป็นเขตแดน ทางทิศ ตะวันตกพระองค์ทรงปราบได้เมืองฉอด เมืองหงสาวดีและมีมหาสมุทรเป็นเขตแดน ทางทิศเหนือ พระองค์ทรงปราบได้เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองพลัว (อำเภอปัว จังหวัดน่าน) ข้ามฝั่งโขงไปถึงเมืองชวา (หลวงพระบาง) เป็นเขตแดน

ในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสร้างพระราชไมตรีกับ พระยามังรายแห่งล้านนาและพระยางำเมืองแห่งพะเยาทางด้านเหนือ และทรงยินยอมให้พระยามังราย ขยายอาณาเขตล้านนาทางแม่น้ำกก แม่น้ำปิง และแม่น้ำวังได้อย่างสะดวก เพื่อให้เป็นกันชนระหว่าง จีนกับสุโขทัย และยังได้เสด็จไปทรงช่วยเหลือพระยามังรายหาชัยภูมิสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ ด้วย

ทางประเทศมอญ มีพ่อค้าไทยใหญ่ชื่อมะกะโทได้เข้ารับราชการอยู่ในราชสำนักของพ่อขุน รามคำแหงมหาราช มะกะโทได้ผูกสมัครรักใคร่กับพระราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว พากันหนีไปอยู่เมืองเมาะตะมะ ต่อมาได้ฆ่าเจ้าเมืองเมาะตะมะแล้วเป็นเจ้าเมืองแทนเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๔ แล้วขอพระราชทานอภัยโทษต่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และได้รับพระราชทานนามเป็นพระเจ้าฟ้ารั่ว และยินยอมเป็นประเทศราชของกรุงสุโขทัย

ทางทิศใต้พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงอัญเชิญพระมหาเถรสังฆราชผู้เรียนจบพระไตรปิฎก มาจากนครศรีธรรมราช เพื่อให้เผยแผ่พระพุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย

ส่วนเมืองละโว้ยังเป็นเอกราชอยู่ เพราะปรากฏว่าระหว่าง พ.ศ. ๑๘๓๔ ถึง พ.ศ. ๑๘๔๐ ยังส่ง เครื่องบรรณาการไปเมืองจีนอยู่ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชคงจะได้ทรงผูกไมตรีเป็นมิตรกับเมืองละโว้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงส่งราชทูตไปเมืองจีน ๓ ครั้ง เพื่อแสดงความเป็นมิตรไมตรีกับประเทศ จีน

วรรณกรรมสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสูญหายไปหมดแล้ว คงเหลือแต่จารึกหลักที่ ๑ (พ.ศ. ๑๘๓๕) ซึ่งแม้จะมีข้อความเป็นร้อยแก้ว แต่ก็มีสัมผัสคล้องจองกันทำให้ไพเราะ เช่น “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว...ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย...เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด” นับเป็นวรรณคดีเริ่มแรกของกรุงสุโขทัย ซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบันโดยมิได้มีผู้มาคัดลอกให้ผิดเพี้ยนไป จากเดิม

จดหมายเหตุจีนระบุว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชสวรรคตใน พ.ศ. ๑๘๔๑ พระยาเลอไทยซึ่ง เป็นพระราชโอรสเสวยราชย์ต่อมา

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย

คลิกอ่านจากไฟล์ pdf »



ตำแหน่ง

Lek Thi 206 Soi 8 ตำบล เนินมะปราง อำเภอเนินมะปราง พิษณุโลก 65190 ประเทศไทย


คำอธิบายการค้นหา

Num ... 2627615 blogger Blog for save Make safe editor Sight seeing view blog ID ... Phasa Thai รายละเอียดคำศัพท์ ... 

☆ เซฟบล็อก! ☆